สกสว. ร่วม 7 PMU หารือสนับสนุนทุนเอกชนพัฒนาผลงานวิจัย-นวัตกรรม

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ 7 หน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (PMU: Program Management Unit) ประกอบด้วยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดประชุม PMU Forum ครั้งที่ 3/2564 เพื่อร่วมหารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกันของหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมในส่วนทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) ที่มุ่งเน้นสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศ

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สกสว. ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ร่วมกันศึกษาถึงแนวทางการทำงานตาม มาตรการสนับสนุนทุนสำหรับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรม ตามความต้องการของภาครัฐหรืออุปสงค์ของตลาด (TBIR: Thailand Business Innovation Research / TTTR: Thailand Technology Transfer Research) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการขับเคลื่อน พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….

โดยแนวคิดนี้เป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงนำมาประยุกต์กับบริบทของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการกระตุ้นให้เกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรม โดยมีหลักการคือเป็นกลไกการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมตรงไปยังภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการทำวิจัยและนวัตกรรม เน้นที่เอกชนที่เป็นวิสาหกิจไม่ใหญ่มาก แต่ไม่ใช่ Startup เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม (Innovation driven enterprise) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณนี้จะมีการดำเนินงานลักษณะโครงการนำร่อง (Pilot Project) ร่วมกับหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ก่อนจะขยายผลร่วมกันทำงานกับทุกหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรรมอื่น ๆ ต่อไปอนาคต