สสว.หนุนSMEสร้างเครือข่ายวิจัย
สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 600 ล้าน
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดพิธีแถลงความสำเร็จโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ประจำปี 2562 ภายใต้คอนเซปต์ “Power of Cluster Power of Connection” ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ที่แสดงให้เห็นถึงพลังของผู้ประกอบการธุรกิจประเภทต่างๆ ในประเทศไทย ที่มีขีดความสามารถในการผนึกกำลัง และยกระดับมาตรฐานสินค้าร่วมกัน จนมีศักยภาพในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ สร้างมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจกว่า 600 ล้านบาท จากผู้ประกอบการรวม 4364 ราย
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สสว. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสว.ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนสร้างเครือข่าย SME หรือคลัสเตอร์ โดยมุ่งเน้นให้มีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ พร้อมดึงกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยสนับสนุน เช่น ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐ หรือผู้เชี่ยวชาญในสายอาชีพเฉพาะทาง เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงกัน ซึ่งสสว.ได้คัดเลือกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมีความน่าสนใจ
สำหรับโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง มีทั้งเครือข่ายผู้ประกอบการ SME จำนวน 620 ราย ด้านการทำดิจิทัล คอนเทนต์(Digital Content) ผ่านการส่งเสริมจากกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าการสร้างความเข้าใจกระบวนการตลาด สินค้าและผลงานลิขสิทธิ์ตัวละคร กระตุ้นความสร้างสรรค์ ทั้งเชื่อมโยงนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรในอุตสาหกรรมมาพบปะกัน ไปจนถึงการนำผู้ประกอบการ ไปแสดงผลงานและเจรจาธุรกิจในประเทศมาเลเซีย เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 120 ล้านบาท และเครือข่ายประเภทใกล้เคียงกันอย่าง ภาพยนตร์ วิทยุโทรทัศน์ เพลง ภายใต้ชื่อคลัสเตอร์ Creative Entertainment รวมผู้ประกอบการ 445 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 44.3 ล้านบาท
หรือคลัสเตอร์ธุรกิจปลากัด ซึ่งเป็นการจับมือผู้ประกอบการจากภูมิภาคต่างๆ 728 ราย และ ผู้ประสานงานคลัสเตอร์ 84 ราย พร้อมเดินหน้าจัดกิจกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง จนเกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจภาพรวม 101 ล้านบาท ทั้งสร้างอาชีพและรายได้กับเกษตรกร มากกว่า 100,000 ครัวเรือน ไม่ว่าด้านการเพาะพันธุ์เพื่อการส่งออก ธุรกิจของที่ระลึกเกี่ยวกับปลากัด ธุรกิจอาหารและยารักษาโรคปลา ธุรกิจอุปกรณ์และวัสดุเพาะเลี้ยงตกแต่งเพื่อความสวยงาม หรือธุรกิจการขนส่ง
เครือข่ายสับปะรดและเครือข่ายกระเทียม ซึ่งแบ่งเป็นผู้ประกอบการด้านสับปะรด 644 ราย และผู้ประกอบการด้านกระเทียม 171 ราย ที่สสว.มีการพัฒนาศักยภาพเชิงลึก อบรมเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ให้ความรู้ในการรวมกลุ่มเครือข่าย จัดทำแผนเพื่อวางยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ของเครือข่าย มีตัวอย่างสินค้าที่เกิดจากการรวมเครือข่ายอันน่าสนใจ อาทิ กระเทียมผง สับปะรดอบน้ำผึ้ง สับปะรดแช่เยือกแข็ง ไอศกรีมไวน์สับปะรด หรือสับปะรดผงสำหรับหมักเนื้อ เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 65 ล้านบาท
เครือข่าย Sport economy ซึ่งเป็นการรวมธุรกิจเกี่ยวกับด้านกีฬา และธุรกิจสนับสนุนอย่างเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์เสริม จำนวนผู้ประกอบการ 458 ราย มีการนำสินค้าออกตลาดญี่ปุ่น และเกิดมูลค่าจากการพัฒนากว่า 79.8 ล้านบาท และในขณะเดียวกัน ยังมีการเจาะจงไปที่คลัสเตอร์มวยไทย เอกลักษณ์หลักของประเทศ รวมเครือข่ายผู้ประกอบการ 420 ราย จัดอบรมหลักสูตรการตลาดต่างประเทศ และนำไปทดลองตลาด อย่างในงาน Fibo Global Fitness 2019 ที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ส่งผลให้เกิดการซื้อขาย 100 ล้านบาท ทั้งต่อยอดการตลาด ทำบันทึกความเข้าใจ(MOU) กับคู่ค้าในนครเซี่ยงไฮ้
เช่นเดียวกับคลัสเตอร์นวัตกรรมธุรกิจอุตสาหกรรมสินค้าภายใต้ข้อกำหนดของหลักศาสนาอิสลามหรือฮาลาล ผู้ประกอบการ 145 ราย ที่สสว.ผลักดันให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไทยคือ ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ จัดกิจกรรมรุกตลาดใหม่ในประเทศบาห์เรน เพื่อเปิดประตูสู่ประเทศในกลุ่ม GCC ได้แก่บาห์เรน คูเวต โอมาน การ์ตา ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือการใช้งานวิจัยมารองรับเพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 50 ล้านบาท และมีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ อาทิ ผงล้างหน้าผลิตจากข่าว GI ของไทย เส้นใยผ้าโพลีเอสเตอร์ ที่ผ่านกระบวนการทางเคมีให้ไม่อับชื้น เครื่องเซรามิคที่ออกแบบนำศิลปะลวดลายไทยผสมผสานกับอักขระโบราณของอาหรับ
ทั้งนี้ นายสุวรรณชัย ยังเปิดเผยด้วยว่า สสว.ได้อัดฉีดการส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งในเครือข่าย พัฒนากระบวนการผลิตและบริหารจัดการ ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุน เพื่อยกระดับศักยภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงกระบวนการให้เกิดผลผลิตมีคุณภาพ พัฒนาด้านมาตรฐาน การจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก จัดทำมาตรฐานการผลิต มาตรฐานการบริการหรือมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม นำเทคโนโลยี นวัตกรรม งานวิจัยมาประยุกต์ใช้ หรือการออกแบบและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ผ่านระบบจัดเก็บข้อมูล SME Connext หากเป็นคลัสเตอร์เก่าจะต้องดูผลการบริหารคลัสเตอร์แต่ลำกลุ่มว่ามีการพัฒนามากน้อยแค่ใด และจะต้องผลักดันเพื่อให้คลัสเตอร์มีความเข้มแข็งมากขึ้น ส่วนกรณีคลัสเตอร์ใหม่ มีแผนจะส่งเสริมรูปแบบการพัฒนาคลัสเตอร์ในระดับจังหวัด เพื่อให้ทุกจังหวัดมีเป้าหมายการพัฒนาอย่างชัดเจน โดยมีหน่วยงานในพื้นที่เป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก ส่วนสวว.จะเป็นหน่วยสนับสนุน เพื่อให้มั่นใจว่าการส่งเสริมแบบคลัสเตอร์จะมีความต่อเนื่อง ซึ่งโดยหลักการควรดำเนินการต่อเนื่อง อย่างน้อย 3-10 ปี จากการพัฒนาเครือข่ายทั้งหมดนี้คาดว่า จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 600 ล้านบาท