วช.ยกระดับนวัตกรรมตอบโจทย์ชาติ
ชูอาชีวะสร้างงานด้วยวิจัย-นวัตกรรม
วช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมสมองแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนารูปแบบเนื้อหาบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวะสอดคล้องตามทิศทางการพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ความต้องการของประเทศระหว่างวันที่ 29 – 30 กันยายน 2562 ณ โรงแรมมารวย การ์เด้นส์ โดยมีบุคลากรระดับผู้บริหาร อาจารย์ สายอาชีวศึกษา ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม จำนวน 350 คน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “Meet the Trainers : Invention & Innovation สายอาชีวศึกษา” ขึ้น ภายใต้แนวคิด Change for the Future อาชีวะก้าวไกล ด้วยวิจัยและนวัตกรรม ระหว่างวันที่ 29 – 30 กันยายน 2562 ณ โรงแรมมารวย การ์เด้นส์ พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง “อาชีวะพันธุ์ใหม่ ก้าวสู่ Thailand 4.0″ โดยเปิดเผยว่า การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นการเตรียมการทำงานที่ให้ความสำคัญกับทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและการแข่งขันของไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาประเทศ งานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทุนมนุษย์ในโลกยุคดิจิทัลและอุตสาหกรรม 4.0
โดยมองถึงทรัพยากรมนุษย์จะเป็นทุนสังคมที่สำคัญ เป็นทั้งผู้สร้าง การพัฒนาและผู้ได้รับผลจากการพัฒนา จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของคนในทุกมิติ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งกำลังคนที่ใช้ฐานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีความรู้ ทักษะความชำนาญ และประสบการณ์ สามารถทำงานได้อย่างมีคุณภาพและหลากหลายรูปแบบ เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีความสามารถและใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้และการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทั้งนี้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาอาชีวศึกษา โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะดำเนินการเร่งรัดพัฒนาการวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ให้มีคุณภาพสามารถนาไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านอาชีวศึกษาให้เข้มแข็ง บนพื้นฐานสติปัญญา ความรู้ ฐานเทคโนโลยี และคุณธรรม จริยธรรม
พร้อมทั้ง ร่วมกระตุ้นและส่งเสริมนักวิจัยในสายอาชีวศึกษาให้มีการวิจัยพัฒนาต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่มุ่งหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยการวิจัยและนวัตกรรมบุคลากรในสายอาชีวศึกษาทั้งคณาจารย์และนักศึกษา รวมถึงบุคลากรที่จบการศึกษาจากสายอาชีวศึกษาที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน จึงเป็นพลังสำคัญในการผลักดันประเทศไทยบนฐานความต้องการทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
ดังนั้น การก้าวเข้าสู่ความเข้มแข็งและความพร้อมของกำลังคน การบ่มเพาะก็มีความสำคัญ อีกหัวข้อหนึ่งก็คือ ความรู้และการใช้เรื่องการวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม จึงเป็นสิ่งที่จะสามารถพัฒนาคนและสร้างกำลังคนคุณภาพบนฐานความรู้ด้านงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในสายอาชีวศึกษา สามารถผลิตออกมาแล้วขายได้ และสามารถแข่งขันได้จริง เนื่องจากมีความโดดเด่น มีความแปลกใหม่ ทั้งนี้ หากได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาการประดิษฐ์คิดค้นอย่างต่อเนื่อง มีแบบแผนและเป็นรูปธรรมจะช่วยให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
“ในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณการวิจัยให้แก่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ไว้ที่ 2,500 ล้านบาท ซึ่งจะมีกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมทำหน้าที่ดูแล โดยอว.มุ่งนำกำลังคนที่ผ่านการบ่มเพาะไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นหัวข้อหลักสำหรับปี 2563 ซึ่ง B-Biotechnology คือ เทคโนโลยีชีวภาพ C-Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียนและ G-คือ Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว”
การจัดกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อระดมสมองและ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนากำลังคนสายอาชีวศึกษาบนฐานการใช้การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเป็นหลัก ที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อพัฒนารูปแบบและเนื้อหาการบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษาให้สอดคล้องตาม ทิศทางการพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ทั้งนี้คาดหมายว่า จะได้ข้อสรุปและข้อเสนอในการพัฒนา การบ่มเพาะนักวิจัยและนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เนื้อหาการบ่มเพาะเพื่อออกแบบกิจกรรม บ่มเพาะบุคลากรสายอาชีวศึกษา ได้แก่ คณาจารย์และนักศึกษา ที่สอดคล้องกับ การส่งเสริมประสิทธิภาพความต้องการกำลังคนของประเทศ บนฐานการใช้วิจัยและนวัตกรรมที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2563 และต่อเนื่อง
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์กล่าวต่อว่า วช. โดยความร่วมมือกับ สอศ. มีความพร้อมและยินดีที่จะให้การสนับสนุน ทุกท่านในการพัฒนากำลังคนสายอาชีวศึกษาให้สามารถนาความรู้และทักษะมาใช้ในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการสร้างและพัฒนานวัตกรรม เพื่อเตรียมการสำหรับผลิตกำลังคนในสาขาที่ขาดแคลน รองรับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในอนาคต สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงและสร้างความเป็นเลิศของประเทศไทย
“ในนามของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ขอขอบคุณ ในความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งของสำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา (สอศ.) ตลอดจนขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิที่กรุณาสละเวลาให้เกียรติ ร่วมเป็นวิทยากรมาให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ข้อเสนอแนะที่ดีๆ ต่อการพัฒนากำลังคนสายอาชีวศึกษาในอนาคต และที่สำคัญที่สุด คือ อาจารย์และบุคลากรสายอาชีวศึกษาที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ซึ่งหากไม่มีพวกท่านกิจกรรมเหล่านี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่าน”
ในการประชุมมีหัวข้อการบรรยายและเสวนาที่น่าสนใจหลายเรื่อง ประกอบด้วย “อาชีวะพันธุ์ใหม่ ก้าวสู่ Thailand 4.0” “การใช้วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนากำลังคนตามนโยบายของประเทศ : Thailand 4.0 และเขตเศรษฐกิจพิเศษ”และ “นักประดิษฐ์ไทยก้าวไกล เพื่อการพัฒนากำลังคนและนวัตกรรมที่ยั่งยืน” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมเป็นวิทยากร เพื่อชี้ทิศทางการพัฒนากำลังคนบนทิศทางBCGและฐานการประดิษฐ์คิดค้นและการพัฒนานวัตกรรม ในหัวข้อข้างต้น ได้แก่ นางเจิดฤดี ชินเวโรจน์ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา,
นายสุวัฒน์ มีมุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BIIC)บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน),ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล,
ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย,นายสาธิต ครองสัตย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.),นายพีรชัย อัศดาชาตรีกุล Business Development Manager บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน),ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ผู้อำนวยการ Center of Excellence in Electromagnetic Energy Utilization inEngineering (CEEE) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี