กสศ.MOU สพฐ. ศธ.พัฒนาครู-รร.
ยกคุณภาพการศึกษา ลดเหลื่อมล้ำ
สพฐ. จับมือ กสศ. เดินหน้าลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพครูและโรงเรียนในชนบท เริ่มต้นปีแรก 288 โรงเรียน ใน 35 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาค ดึงพลังทุกฝ่ายในรร. ร่วมสร้างเด็กทุกคนให้มีทักษะศตวรรษ 21 และมีผลลัพธ์การเรียนรู้ดีขึ้นแม้อยู่ห่างไกล ไม่ใช่รร.ขนาดใหญ่ ตั้งเป้าขยายผลสู่โรงเรียนคุณภาพประจำตำบลทั่วประเทศ ขณะที่ ศ.นพ.วิจารณ์ชี้ แก้เหลื่อมล้ำต้องปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนรร.ชนบทให้สูงขึ้น
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดประชุมเรื่อง “ยกระดับคุณภาพโรงเรียน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teachers & School Quality Program : TSQP)เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนโรงเรียน ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ผู้บริหารสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เข้าร่วมกว่า 1,000 คน
ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า การขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านความรู้ระหว่างนักเรียนในเมืองกับนักเรียนในชนบทที่ต่างกันเกือบ 2 ปีการศึกษา สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพหรือมาตรฐานของสถานศึกษา รวมถึงคุณภาพและประสิทธิภาพครู
ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการสพฐ.
ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนโดยตรง สพฐ. และกสศ. จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teachers & School Quality Program : TSQP) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโรงเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษาขนาดกลางสังกัด สพฐ. ในชนบทที่มีเด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส และผู้ด้อยโอกาสอยู่หนาแน่น ให้เป็นโรงเรียนที่สามารถพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ หรือ Whole School Approach ทั้งด้านการบริหารจัดการโรงเรียน และการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ระดับชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนมีทักษะการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ขณะที่นักเรียนยากจนด้อยโอกาสได้รับการดูแลอย่างเต็มศักยภาพ โดยครูจะมีความสามารถในการประเมินและช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล
“กลุ่มเป้าหมายสำคัญของโครงการนี้ ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาขนาดกลางที่มีศักยภาพจะเป็นโรงเรียนแกนนำของชุมชน (hub-schools) ที่สำคัญคือ ผู้บริหารและครูมีความพร้อมในการพัฒนาด้วยความสมัครใจ ซึ่งหากโรงเรียนแกนนำเหล่านี้ได้รับการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนได้ทั้งระบบโรงเรียน โดยมีครูเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนสูงขึ้นได้
โดยในอนาคตจะบูรณาการกับโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลทั่วประเทศของทาง สพฐ. ระยะยาวโครงการนี้จะทำให้เกิดโมเดลสำหรับการปฏิรูปคุณภาพสถานศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ขอให้ทุกโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับ กสศ. และภาคีเครือข่าย ในการพัฒนาครูและโรงเรียนตามแนวทางของโครงการฯ” ดร.อัมพร กล่าว
ด้าน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า หัวใจสำคัญของโครงการนี้ต้องเริ่มต้นจากผู้บริหารและครูผู้สอน มีความเชื่อว่าเราสามารถพัฒนาตนเองและโรงเรียนได้ แม้จะเป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล หรือไม่ใช่โรงเรียนขนาดใหญ่ ก็สามารถพัฒนาจนเจริญก้าวหน้าได้ โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภายนอกหรือต้องรอนโยบาย จึงจะส่งผลให้เกิดการปฏิรูปการบริหารจัดการ และการเรียนการสอนในโรงเรียนทั้งระบบ
การทำงานในปีแรกจะมีโรงเรียนขนาดกลางที่ผู้บริหารและครูผู้สอนสมัครใจ และตั้งใจเข้าร่วมจำนวน 288 แห่งในพื้นที่ 35 จังหวัด ทุกภูมิภาค ครอบคลุมครูกว่า 5,700 คน การพัฒนาแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับชั้นเรียนและระดับโรงเรียน เน้นกระบวนการสร้างให้นักเรียนเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทันต่อโลกในศตวรรษที่ 21 โดยการทำงานจะไม่หยุดอยู่แค่ห้องเรียนห้องเดียว แต่ต้องทำทั้งโรงเรียน เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับองค์กร ด้วยการใช้พลังร่วมของครูและบุคลากรทุกคนในโรงเรียนพัฒนาการเรียนการสอนที่มุ่งเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดของนักเรียน
นพ.สุภกร กล่าวต่อไปว่า กสศ.จะนำผลการวิจัยและเครื่องมือสนับสนุนการทำงานของครูและสถานศึกษาจากการทำงานวิชาการร่วมกับองค์การความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) มาสนับสนุนกระบวนการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนแบบ Active Learning โดยใช้การสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนประสิทธิภาพสูง (High functioning Classroom) จากสถาบันความคิดสร้างสรรค์แห่งสหราชอาณาจักร (CCE) รวมถึงการใช้เครื่องมือส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณจากองค์การ OECD เพื่อพัฒนานักเรียนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กสศ.ยังสนับสนุนให้โรงเรียนใช้ระบบ Q-Info ซึ่งเป็นระบบสารสนเทศสำหรับติดตามการเปลี่ยนแปลงของเด็กในชั้นเรียนเป็นรายบุคคลคน เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนา ตามแนวทางผลการวิจัยเครื่องมือประเมินทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 อีกด้วย
“คาดว่าเมื่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา กสศ.จะสามารถขยายพื้นที่เป้าหมายการทำงานสนับสนุนนโยบายโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลของ สพฐ.ต่อไป” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว
นพ.สุภกร กล่าวอีกว่า กสศ.ยังสนับสนุนให้ทั้ง 288 โรงเรียนทำงานร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยใกล้พื้นที่จำนวน 10 สถาบัน เพื่อวิจัยและพัฒนากระบวนการเรียนการสอน/หลักสูตรที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น การถ่ายทอดทักษะความรู้ไปยังนักศึกษาครู
นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้องค์กรที่มีประสบการณ์ด้านการศึกษาระดับแถวหน้าของประเทศไทย 5 เครือข่าย ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี 2.สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น 3.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 4.มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา และ5.มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ร่วมเป็นโค้ช สนับสนุนเทคนิคการบริหารจัดการและวิชาการ ต่อยอดจากประสบการณ์ทำงานของแต่ละองค์กรเพื่อให้ทั้ง 288 โรงเรียนเกิดการพัฒนาขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง กสศ. กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ :เปลี่ยน ครู-ห้องเรียน” ว่า การแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแต่เพียงอุดหนุนงบประมาณยังไม่เพียงพอ แต่จะต้องปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนในชนบทให้สูงขึ้นด้วย จากรายงานของ World Development Report 2018 : Learning to Realize Education’s Promise พบว่าหากจะให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ในภาพรวมของประเทศไทยยกระดับขึ้น ครู โรงเรียน พ่อแม่ และผู้นำชุมชน ต้องร่วมมือกันเอาใจใส่ให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่เด็กที่ขาดแคลนหรือเด็กที่เรียนอ่อน ไม่ใช่มุ่งเอาใจใส่เฉพาะเด็กเก่ง และขยันเรียน ซึ่งมีอยู่เพียงร้อยละ 10-20 แต่อีกร้อยละ 80-90 จะถูกทิ้ง ความร่วมมือระหว่างสพฐ.และกสศ.ในครั้งนี้จะทำให้เด็กอีกร้อยละ 80-90 ได้รับโอกาสในการพัฒนาและบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้เช่นกัน
“นักเรียนที่แม้จะยากจนอย่างไรทุกคนล้วนสามารถบรรลุการเรียนรู้คุณภาพสูงได้ โดยเริ่มจากครูพ่อแม่ และตัวนักเรียนเองเชื่อมั่นร่วมกันที่จะมีอนาคตที่ประสบความสำเร็จ ครูต้องชวนเด็กตั้งเป้าหมายสูง และพยายามทำให้สำเร็จให้ได้ เพราะครูและพ่อแม่จะเป็นตัวช่วยสำคัญให้เด็กเกิดการพัฒนา สร้างความเชื่อมั่นให้เห็นความหวังดีว่าครูเอาใจใส่เด็กทั้งห้องเรียน” ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าว