กสศ.-สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯเสวนา
ชูงานโนเบลลดเหลื่อมล้ำการศึกษา
ดร.ประสาร เตือนอย่าตกหลุมพรางว่างานของกสศ.ซ้ำซ้อน จนตัดงบประมาณ ระบุเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข (CCT) แก้เหลื่อมล้ำตรงจุด ลงทุนน้อย ได้ผลมาก ผลวิจัยโนเบลเศรษฐศาสตร์ปี 2019 ชี้ชัดเป็นมาตรการมุ่งแก้ไขปัญหาอุปสงค์ทางการศึกษาตามความต้องการที่แท้จริงเด็กยากจน ช่วยเพิ่มอัตราการเข้าเรียน และลดอัตราการหลุดออกจากระบบได้ผลจริง กสศ.เดินหน้า จับมือ J-PAL ดึงทีมวิจัยรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ 2019 ประเมินผลเพื่อพัฒนาเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ.
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ จัดเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง “จากรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2562 สู่การใช้นวัตกรรมทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ณ ห้องประชุมสมานสโมสร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้กล่าวปาฐกถา เรื่อง “นวัตกรรมในการจัดทำนโยบายเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา บทเรียนจากรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี พ.ศ. 2562” โดยระบุว่า จากการที่ทางราชสถาบันวิทยาศาสตร์สวีเดน มอบรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2562 ให้แก่ นายอะบีจิต บาเนร์จี นางเอสเธอร์ ดิวโฟล นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) และนายไมเคิล เครเมอร์ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นการยกย่อง “การนำนวัตกรรมการวิจัยเชิงทดลอง” (Experimental Research) มาสนับสนุนการวิจัยเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนา ตนเห็นว่า การมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้อาจจะมาได้ถูกที่ถูกเวลา เพราะข้อมูลจากสถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก (UIS) ชี้ว่ายังมีเด็กเยาวชนมากกว่า 263 ล้านคนทั่วโลกที่ยังคงอยู่นอกระบบการศึกษา โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กวัยประถมศึกษามากกว่า 60 ล้านคน
ดร.ประสาร กล่าวว่า ที่น่ากังวลไปกว่าจำนวนเด็กนอกระบบ คือ ความก้าวหน้าในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มชะลอตัวลง กลุ่มเป้าหมาย 5-10% สุดท้าย ยังเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาหรือต้องออกจากการเรียนกลางคัน ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเลขเด็กนอกระบบการศึกษาในระดับโลกเริ่มกลับมามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นระหว่างปี 2016-2017 อีกครั้ง ในขณะที่ประเทศไทยเองยังมีเด็กเยาวชนในครอบครัวที่ยากจนและด้อยโอกาสอีกมากกว่า 670,000 คนที่มีอายุ 3-18 ปี และยังมีนักเรียนกลุ่มเสี่ยงในครอบครัวที่ยากจนและยากจนพิเศษอีกเกือบ 2 ล้านคนที่อาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ดร.ประสาร กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของโลกที่มีแนวโน้มลดลงในอัตราที่ถดถอยมากซึ่งสะท้อนสภาพปัญหาที่มีความยากมากขึ้น ในขณะที่งบประมาณของภาครัฐและเงินบริจาคกลับมีแนวโน้มลดลง จึงมีความจำเป็นที่ผู้กำหนดนโยบายต้องเลือกใช้ มาตรการที่ลงทุนน้อย แต่ได้ผลมาก ซึ่งนวัตกรรมการวิจัยเชิงทดลอง ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้จึงอาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยงานที่มีภารกิจลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจนสามารถเลือกนโยบายที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาตามบริบทของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืน
“จากผลการวิจัยประเมินผลโครงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากกว่า 31 โครงการทั่วโลกด้วยกระบวนการ Randomized Control Trial (RCT) พบว่า นโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยมาตรการที่เจาะจงไปที่ อุปสงค์ต่อการศึกษา (Demand for Education) ซึ่งเป็นมาตรการที่ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของฝั่งผู้เรียนและครอบครัว หลายมาตรการให้ผลลัพธ์และความคุ้มค่าทางงบประมาณที่สูงกว่ามาตรการด้านอุปทานของการศึกษาที่เน้นผู้จัดการศึกษาเป็นตัวตั้ง เช่น “การลดต้นทุนการเข้าถึงการศึกษา” ด้วยการสนับสนุนเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือ Conditional Cash Transfer (CCT) ต่ออัตราการมาเรียนของผู้เรียน ซึ่งเป็นมาตราการที่กสศ.ดำเนินการอยู่ หรือการสนับสนุน อาหารเช้า เครื่องแบบ และการเดินทาง แบบมีเงื่อนไข (Non-cash Conditional Transfer: NCT)”
ประธานกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวต่อว่า มาตรการที่แก้ปัญหาตรงความต้องการที่แท้จริงของนักเรียนและครอบครัว หรือเจาะจงไปที่อุปสงค์ ได้รับการสนับสนุนจากผลการวิจัยและการประเมินผลด้วยกระบวนการวิจัยเชิงทดลองมามากกว่า 58 งานวิจัย ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ในการทำงานของคณะนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลในปีนี้ และทีมงานของศูนย์วิจัย J-PAL แห่งมหาวิทยาลัย MIT และสถาบันทั่วโลกพบว่า สามารถเพิ่มอัตราการเข้าเรียน การสำเร็จการศึกษา และลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษาของผู้เรียนจากครัวเรือนที่มีความยากจนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และใช้งบประมาณน้อยกว่ามาตรการทางฝั่งอุปทาน อย่างการสร้างโรงเรียน สร้างห้องเรียนเพิ่ม หรือการเพิ่มครู
ดังนั้นการที่เด็ก เยาวชน หรือ ผู้ปกครอง ปฏิเสธการศึกษา แม้รัฐบาลจะสร้างโรงเรียน หรือจ้างครูเพิ่มเติมในพื้นที่ใกล้เคียงเด็กๆมากขึ้นแล้ว ไม่ใช่ว่าพวกเขาเป็นคนที่ขาดซึ่งเหตุผล หรือ ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาต่ออนาคตของบุตรหลาน แต่คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นการตัดสินใจ ด้วยมาตรการลดความเหลื่อมล้ำที่เข้าใจในอุปสงค์ต่อการศึกษาของพวกเขาอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับบริบทเฉพาะต่าง ๆ อย่างแท้จริง
สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยในเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้นแม้มีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้นบ้าง แต่ยังคงมีโจทย์สำคัญหลายเรื่องที่ประเทศไทยควรเร่งจัดการอย่างเป็นระบบก่อนที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ยังมีหลายส่วนที่มีความซับซ้อน เชื่อว่าการแก้ไขต้องทำที่ต้นทาง เริ่มจากการทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งหลายหน่วยงานทำอยู่ ขณะที่กสศ.มีหน้าที่เสริมความรู้ ข้อมูล รวมถึงค้นหาแนวทางใหม่ๆ หาสาเหตุว่าการที่เด็กและเยาวชนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้เต็มที่ เพราะสาเหตุอะไร
“เด็กบางต้องเดินทางมาโรงเรียน บางคนอยู่ห่าง 20 กิโล เดินทางมา 20 บาท เดินทางกลับอีก 20 บาท ถ้าพ่อแม่ขายปลาไม่ได้ เด็กต้องอยู่บ้าน เพราะไม่มีค่าเดินทาง ไม่มีเงินกินอาหารเช้า บางคนขาดเป็นบางวัน เพราะไม่มีชุดพละ ในขณะที่ แจกเครื่องแบบนักเรียน ปูพรมไปทั้งประเทศ ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสาธิตเกษตร บอกว่าไม่ต้อง เค้าซื้อเครื่องแบบให้ลูกได้ ครูก็รวบรวมเพื่อไปบริจาค นี่คือสิ่งที่สะท้อนเรื่องของมาตรการฝั่งอุปทาน พวกเราต้องระวังอย่าตกหลุมพรางว่า งานของกสศ.ซ้ำซ้อน จนขอตัดงบประมาณ แต่ความจริงมันคนละวง คนละภารกิจ
ความตั้งใจของคณะกรรมการบริหารกสศ. กสศ.จะไม่ทำงานในสเกลใหญ่ แต่เราจะหามุมเล่น รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้ ซึ่งเป็นการทำงานวิจัยในแนวทางเดียวกับสิ่งที่กสศ. ทำอยู่ จึงเป็นจังหวะที่ดีมาก เพื่อทำความเข้าใจว่า ที่คุณทำอยู่ใช้เงินมาก เน้นการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาจากฝั่งผู้จัดการศึกษา แต่กสศ.จะเข้ามาเสริม ใช้ข้อมูลความรู้ ทำให้ถูกที่ถูกทาง เน้นมาตรการที่ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของฝั่งผู้เรียนและครอบครัว ซึ่งจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล กสศ.ทำที่ต้นเหตุ ไม่ทิ้งปัญหายากจนข้ามชั่วคน ในขณะที่แจกเงินชิมช้อปใช้ จะหมด รุ่นต่อไปก็หมด” ดร.ประสาร กล่าว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผจก.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
ผอ.สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ด้านดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กสศ.ได้ร่วมประชุมหาแนวทางความร่วมมือทางวิชาการกับศูนย์วิจัย (Abdul Latif Jameel Poverty Action Lab) J-PAL แห่งมหาวิทยาลัย MIT สาขาภูมิภาคอาเซียน ณ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อพัฒนากรอบแนวทางความร่วมมือเพื่อวิจัยประเมินผลโครงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของกสศ. ด้วยเครื่องมือนวัตกรรมการวิจัยเชิงทดลอง (Randomized Controlled Trials: RCT) ซึ่งเป็นแนวทางของนักวิจัยรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์ในปีนี้ โดยศูนย์วิจัย J-PAL จะคัดเลือกทีมนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย MIT และ สถาบันวิชาการภาคี เพื่อมาสนับสนุนการทำงานวิจัยประเมินผลโครงการของ กสศ. ในประเทศไทย โดยอาจจะเริ่มทดลองในบ้างพื้นที่ก่อนในปีการศึกษา 1/2563 นี้ เนื่องจากกสศ.มีงบประมาณที่จำกัดไม่สามารถดำเนินงานได้ทั้งประเทศ
กฤษฏเลิศ สัมพันธารักษ์ ผอ.สถาบันวิจัยเศรษฐกกิจป๋วย อึ้งภากรณ์
การประเมินผลลักษณะนี้ จะช่วยให้มีผลการวิจัยที่มีคุณภาพสูงเพื่อประกอบการตัดสินใจปรับปรุงพัฒนามาตรการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่ กสศ. และหน่วยงานภาคี หรือกำหนดทิศทางการทำงานของกสศ.ว่าควรมุ่งทำงานในส่วนไหนก่อน ภายใต้งบประมาณที่จำกัด และทำอย่างไรให้งานของกสศ.สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างยั่งยืนแท้จริง คาดว่าจะได้เห็นรูปธรรมในช่วงกลางปีหน้าที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการทำงานของทีมนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลร่วมกับทีมนักวิจัยในประเทศไทยเพื่อพัฒนามาตรการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ กสศ. และ หน่วยงานภาคีดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
“กสศ. พยายามจะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ตรงจุด โดยเฉพาะปัญหาในฝั่งอุปสงค์ทางการศึกษา (Demand-side) ทั้งเรื่องการลดต้นทุนในการเข้าสู่ระบบการศึกษา และการประเมินคุณค่าในการศึกษาต่อของผู้เรียนจากครอบครัวที่ยากจน ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้เงินไม่มาก แต่ผลการวิจัยจากนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลพบว่า ได้ผลต่อความเสมอภาคสูง (High-impact) เช่น โครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Tranfer: CCT) นั้นเด็กๆ ที่ได้รับเงินอุดหนุนไปจะต้องมีเงื่อนไขตามเกณฑ์คือ มาเรียนไม่น้อยกว่า 80 % ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่า นักเรียนยากจนพิเศษที่รับทุนกสศ.ไป มาเรียนครบตามเกณฑ์ 98 % ส่วนอีก 2% กสศ.จะต้องไปติดตามว่าเด็กมีปัญหาอย่างไร
รวมถึงเรื่องดัชนีมวลกาย หรือ ค่า BMI ซึ่งมีอยู่ราว 2 แสนคน หรือราวร้อยละ 30 ที่ยังมีน้ำหนัก ส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ขณะที่ 1.3 แสนคนสูงเกินมาตรฐาน ตรงนี้เป็นสิ่งที่ กสศ. พยายามจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาที่ต้นทางให้ตรงจุดจากการนำงานวิจัยทางเศรษฐศาตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลมาเรียนรู้ และทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยในต่างประเทศและในประเทศเพื่อช่วยให้สังคม ผู้เสียภาษี มีความมั่นใจมากขึ้น ว่า กสศ. เราจะใช้เงินเหล่านั้นไปถึงตัวเด็กเยาวชน และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดของเงินที่ได้รับมาทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับมาทั้งจากรัฐบาล และจากการบริจาคของภาคเอกชนและประชาชน” ดร.ไกรยส กล่าว