รพ.จิตเวชโคราช ชูอาหารผู้ป่วย “อร่อย 3 ดี” เค็มน้อย สกัดป่วยซ้ำซ้อนทางกาย
รพ.จิตเวชโคราช ควบคุมคุณภาพอาหารผู้ป่วยจิตเวช เน้น “อร่อย 3 ดี” คือดีต่อสุขภาพ ดีลดโรค รสชาติอร่อยดีและ เค็มน้อย ใช้วัตถุดิบปลอดสารพิษที่ได้จากชุมชนในเมืองโคราช ตรวจสอบความเค็มในอาหารทุกตำรับด้วยเครื่องมือวัดความเค็มต้องไม่เกิน 0.7 เปอร์เซ็นต์ ต่อวันผู้ป่วยจิตเวชต้องได้รับเกลือโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม เพื่อป้องกันการเกิดโรคทางกายซ้ำซ้อน อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต ในปี 2563 นี้ตั้งเป้าเพิ่มความพึงพอใจผู้ป่วยและญาติให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2563 นี้ รพ.จิตเวชฯได้พัฒนาคุณภาพบริการในระดับเชี่ยวชาญเฉพาะทางจิตเวชหลายประการ เพื่อให้สามารถดูแลรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดในเขตนครชัยบุรินทร์ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ที่มีอาการรุนแรงซับซ้อนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อาทิการเพิ่มเครื่องมือรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยไฟฟ้า( Electro Convulsive Therapy) การพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินในโครงการสมาร์ท เซอร์วิส (Smart Service) ในระบบสมาร์ท ฮอสปิตอล (Smart Hospital ) โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างสถานพยาบาล รถพยาบาลฉุกเฉิน และศูนย์สั่งการที่ห้องฉุกเฉินของรพ.จิตเวชฯ แพทย์สามารถติดตามดูแลประเมินผู้ป่วยได้ตลอดเส้นทาง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
ประการสำคัญยังเน้นการดูแลด้านอาหารของผู้ป่วยให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัย โดยเน้นอร่อย 3 ดี คือ ดีต่อสุขภาพ ดีลดโรค รสชาติอร่อยดี และเค็มน้อย ไม่ทำให้เกิดโรคทางกายซ้ำซ้อนให้ผู้ป่วยจิตเวช โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ เช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยจิตเวชเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษา ยาบางตัวอาจทำให้ผู้ป่วยอยากอาหารมากขึ้น รวมทั้งการใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยด้วย
ทางด้านนางจิรัฐิติกาล ดวงสา นักโภชนาการชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานโภชนาการรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ครัวของรพ.จิตเวชฯ เป็นครัวอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานของกรมอนามัย ในการจัดอาหารให้ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่มีเฉลี่ยวันละ 300 ราย แต่ละรายใช้เวลาอยู่รพ.ประมาณ 30 วัน อาหารตลอด 3 มื้อนั้นจะเน้นคุณภาพ ความปลอดภัยและรสชาติ แบ่งเป็นประเภทอาหารทั่วไปและอาหารพิเศษเฉพาะโรค ใช้วัตถุดิบจากชุมชนในพื้นที่จ.นครราชสีมา เช่นผัก ผลไม้สดปลอดสารพิษ ข้าวกล้องเป็นต้น โดยเน้นการเคี่ยวน้ำซุปให้กลมกล่อมเป็นพื้นฐานโดยใช้เพียงหัวไชเท้า แครอท รากผักชีและกระดูกหมูหรือไก่เคี่ยวไฟอ่อนๆโดยไม่ปรุงเครื่องปรุงรสใดๆ เพื่อลดปริมาณการใช้เครื่องปรุงและจำกัดการใช้โซเดียมให้น้อยลง ให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วน และคำนวณสารอาหารและปริมาณพลังงานหรือแคลอรี่ในอาหารทุกเมนูเพื่อควบคุมให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานอย่างเหมาะสม
“ประการสำคัญมีการควบคุมความเค็มของอาหารให้อยู่ในมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก(WHO)กำหนดคือไม่เกิน1 ช้อนชาต่อวัน โดยจัดระบบการตรวจสอบความเค็มในวัตถุดิบก่อนปรุง เช่นเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และตรวจสอบหลังปรุงสุกเป็นเมนูแล้วด้วยเครื่องมือวัดความเค็มที่เรียกว่า ซอลท์ มิเตอร์ ( salt meter) ก่อนนำไปเสิร์ฟให้ผู้ป่วย ซึ่งรพ.จิตเวชฯเป็นหน่วยงานแรกๆที่นำเครื่องมือชนิดนี้มาใช้ โดยปริมาณเกลือโซเดียมในอาหารผู้ป่วยต้องไม่เกิน 0.7 เปอร์เซ็นต์ และต่อวันผู้ป่วยจิตเวชต้องได้รับไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม” นางจิรัฐิติกาลกล่าว
ทั้งนี้รพ.จิตเวชฯได้ตั้งเป้าหมายภายในปี2563 จะควบคุมน้ำหนักตัวของผู้ป่วยจิตเวชทั้งที่ป่วยทางใจอย่างเดียว และป่วยโรคทางกายเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 80 และสร้างความพึงพอใจผู้ป่วยและญาติให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ซึ่งคุณภาพและรสชาติของอาหารเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความพึงพอใจผู้ป่วย นอกจากนี้ยังได้ขยายผลส่งเสริมอาหารรสชาติอร่อย เค็มน้อย สะอาด ในร้านจำหน่ายอาหารภายในรพ.จิตเวชฯด้วย