“วีรศักดิ์” ชู เศรษฐกิจสร้างสรรค์ พลิกโฉมงานหัตถศิลป์ไทย สร้างมูลค่าเพิ่ม ยกขีดความสามารถแข่งขัน สร้างรายได้กลับสู่ชุมชนยั่งยืน
รมช.พาณิชย์ฯ ลงพื้นที่การประชุมเครือข่ายผู้ผลิตงานหัตถศิลป์ในกลุ่มภาคกลาง ส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ พลิกโฉมศิลปหัตถกรรมยุคใหม่ให้แข่งขันในตลาดโลก มุ่งผลักดันให้เกิด Creative Craft Economy สร้างรายได้กลับสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดสินค้าเชิงสร้างสรรค์ของโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกปี ประเทศไทยเองได้นำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) มาใช้ในกระบวนการพัฒนาประเทศ และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา (Education) การสร้างสรรค์งาน (Creativity) การใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม ตลอดจนการสั่งสมความรู้ของสังคมและเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่
ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนพื้นฐานของการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญา เข้ากับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเชื่อมโยงภาคการผลิตและการบริการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรม ดิจิทัลคอนเทนต์ อุตสาหกรรมออกแบบ และเครือข่ายวิสาหกิจ สินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านเพื่อการส่งออก เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีความโดดเด่นในเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม และองค์ความรู้ภูมิปัญญาด้านงานศิลปหัตถกรรมที่สามารถนำมาต่อยอดในเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างกว้างขวาง จึงถือเป็นโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการงานหัตถศิลป์ของไทยที่จะปรับปรุงพัฒนาและนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาเสริมสร้างเอกลักษณ์และความแปลกใหม่ให้กับสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับด้านแรงงานทั้งในด้านทักษะฝีมือ และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ผลิตซึ่งเป็นชาวบ้านและคนในชุมชน เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ผลิต ชุมชน และผู้ประกอบการงานหัตถศิลป์อย่างยั่งยืน
“ผมคิดว่าไทยมีความพร้อมในทุกด้านที่จะนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาพัฒนาโดยเฉพาะในวงการศิลปหัตถกรรมไทยให้กลายเป็น Creative Craft Economy ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากในปัจจุบันและในอนาคต เพราะประเทศไทยมีต้นทุนในแง่ของคุณค่าจากภูมิปัญญา วัตถุดิบ และแรงงานในชุมชน ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาต่อยอดผลงานหัตถศิลป์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชิ้นงานได้สูงขึ้น ตลอดจนเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้ซื้อมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
และในโอกาสที่ผมมาเปิดการประชุมสมาชิก SACICT Craft Network ครั้งที่ 4 (ภาคกลาง) ในวันที่ 16 มกราคม 2563 ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มอบหมายให้ SACICT ดำเนินงานและให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและพัฒนาผู้ผลิตและผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมไทย กว่า 1,759 ราย ให้เกิดความเข้าใจในแนวคิดของ Creative Craft Economy และนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมของตนเอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาผสมผสานด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม และแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ นำไปสู่การผลิตผลงานที่มีความร่วมสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้ สามารถสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์และเป็นการสร้างรายได้กลับสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงการให้ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผู้ประกอบการงานหัตถศิลป์ไทยทั่วประเทศ ซึ่งในอนาคตผมหวังว่าในวงการงานศิลปหัตถกรรมไทย จะนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้และต่อยอดผลงานภายใต้ Creative Craft Economy ต่อไป”
นอกจากนี้ ภายในงาน SACICT ยังได้จัดแสดงตัวอย่างผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ที่มีการผสมผสานเทคนิคเชิงช่างต่างถิ่น พัฒนาออกมาเป็นชิ้นงานใหม่ สอดรับกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น ได้แก่ ผลงานการพัฒนาทักษะเชิงช่างและเทคนิคการประดับมุกบนเครื่องดิน และการมัดและย้อมสีธรรมชาติด้วยวัตถุดิบในท้องถิ่นภาคใต้ โดยการนำเส้นไหมและผ้าไหมกับน้ำย้อมจากวัตถุดิบที่ได้จากพืชพรรณธรรมชาติ