ปริมาณไก่ไข่เหมาะสมส่งผลราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพ เตือนผู้เลี้ยงเห็นแก่ส่วนรวม
นายอรรณพ อัครนิธิยานนท์ อดีตนายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผยว่า ในขณะนี้ระดับราคาไข่ไก่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ผู้เลี้ยงอยู่ได้ ผู้บริโภคไม่เดือดร้อน ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการปริมาณพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่อย่างเหมาะสม โดยทุกคนในอุตสาหกรรมยอมเลี้ยงลดลงเพื่อให้ปริมาณไข่ไม่ล้นตลาดและอยู่ได้ไม่ขาดทุน แต่หากมีผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่มองเป็นโอกาสแล้วเร่งขยายการเลี้ยง โดยเรียกร้องขอนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่เพิ่ม อันนี้อาจนำไปสู่ภาวะไข่ไก่ล้นตลาด กลับสู่วังวนเดิมๆของคนเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมไข่ไก่โดยรวม
“กว่าเอ้กบอร์ดและทุกคนในอุตสาหกรรมจะร่วมมือกันลดปริมาณแม่ไก่ไข่ให้สอดคล้องกับการบริโภคในประเทศที่ 48-49 ล้านตัวไม่ใช่เรื่องง่าย กินเวลามา 2-3 ปีทีเดียว ดังนั้น จึงอยากให้ทุกคนในอุตสาหกรรมนี้ คำนึงถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกคนตลอดห่วงโซ่อุปทานไข่ไก่ได้อย่างยั่งยืน” นายอรรณพกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากทั้งอุตสาหกรรมเห็นว่า จำเป็นต้องเพื่มแม่พันธุ์จริง อาจพิจารณาให้ผู้นำเข้ารายเดิมที่มีอยู่ถึง 16 รายให้นำเข้าเพิ่มได้ ภายใต้การกำกับดูแลของเอิ้กบอร์ด ไม่ควรให้เปิดนำเข้าโดยเสรี เพราะจะควบคุมปริมาณแม่ไก่สาวไม่ได้ และจะกระทบเป็นลูกโซ่ให้ต้องแก้ปัญหาอย่างยากลำบากกันอีก
ทั้งนี้ Egg board หรือ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ มีมาตรการควบคุมปริมาณไก่เพื่อรักษาปริมาณไข่ไก่ไม่ให้ล้นตลาด โดยบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่การผลิตทั้งประเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำ โดยควบคุมปริมาณปู่ย่าพันธุ์และพ่อแม่พันธุ์ (GP, PS) โดยลดโควต้านำเข้าแม่พันธุ์ไก่ไข่จากปี 2560, 2561, 2562 ให้ลงมาอยู่ที่ 608,000 ตัว, 550,000 ตัว และ 440,000 ตัวตามลำดับ ขณะที่ ช่วงกลางน้ำ ก็มีมาตรการกำหนดอายุปลดไก่ และช่วงปลายน้ำ ก็ทำการรณรงค์บริโภค รวมถึงส่งออกไข่ไก่ส่วนเกิน
มาตรการทั้งหมดดังกล่าว นำไปสู่ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ที่สมดุลกับปริมาณการบริโภคที่ 39-40 ล้านฟองต่อวัน ส่งผลให้ระดับราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพที่สุดในรอบ 5 ปี คาดว่า ปี 2563 เอ้กบอร์ดจะยังคงปริมาณแม่พันธุ์ไก่ไข่ที่ 440,000 ตัวเท่าเดิม
ขอบคุณภาพประกอบจาก-www.sanook.com