“บ.เขาใหญ่ พาโนรามา” ผนึกกำลัง 16 องค์กร ขับเคลื่อน โครงการ “โคก หนอง นา ป่าลำไย ลุ่มน้ำน่าน” ส่งเสริมแปลงเกษตรอินทรีย์ลำไย ยกระดับเกษตรกร สร้างรายได้มั่นคง ยั่งยืน
บริษัทเขาใหญ่ พาโนรามา ฟาร์ม จำกัด และ 15 องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคมและภาคท้องถิ่น จัดพิธีบวงสรวง พร้อมดื่มน้ำสัตยาบันเป็นสัญลักษณ์การร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU)ความร่วมมือส่งเสริมเกษตรพอเพียง (Sufficient Agriculture) โครงการ “โคก หนอง นา ป่าลำไย ลุ่มน้ำน่าน” ณ เสาหลักเมือง วัดมิ่งเมือง จ.น่าน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 โดยได้รับเกียรติจาก นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่านเป็นประธานในพิธีสงฆ์และอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวเปิดงานพิธีMOU หนุนชาวสวนลำไยน่านต้นแบบทำเกษตรอินทรีย์นำผลผลิตเพิ่มมูลค่าสู่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ “ลำไยไซรัปเห็ดหลินจือ” ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ช่วยแก้ปัญหาราคาลำไยตกต่ำ สร้างรายได้แก่เกษตรกรมั่งคั่ง ยั่งยืน ชูกลยุทธ์ใช้ออร์เดอร์นำการผลิต ระบุเวลานี้มีแล้วออร์เดอร์ 2 แสนขวด เตรียมผลิตล็อตแรกใช้ผลผลิตลำไยเดือนสิงหาคม 2563 ตั้งเป้า 1 ปีแรกผลิต 1 แสนขวดต่อเดือนและขยายเพิ่ม 8เท่าปีถัดไป
บริษัทเขาใหญ่ พาโนรามา ฟาร์ม จำกัด ผู้ผลิตจำหน่ายเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพลำไยไซรัปเห็ดหลินจือ(Immu Xtract) จัดพิธีบวงสรวง โครงการ “โคก หนอง นา ป่าลำไย ลุ่มน้ำน่าน” ร่วมกับบริษัท ไทธนบุรี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ณ เสาหลักเมือง วัดมิ่งเมือง จ.น่าน และร่วมทำบันทึกข้อตกลง (MOU) วิธีใหม่ด้วยการดื่มน้ำสัตยาบันร่วมกันรวมทั้งหมด 16 หน่วยงานประกอบด้วย จังหวัดน่าน, กรมการพัฒนาชุมชน, กระทรวงมหาดไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.), นักวิจัยและทีมวิจัย จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน, กองทุนภูมิไทยพัฒนา, มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (Earth Safe Foundation), สมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, บริษัทเอามื้อสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด, ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน, บริษัท ไทธนบุรี คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัทเอิร์ธแคร์อินโนซิส จำกัด และ บริษัทพีซี อินโนวา จำกัด โดยทุกฝ่ายจะร่วมสนับสนุนผลักดันให้เกิดการทำเกษตรภายในพื้นที่จังหวัดน่าน ให้เป็นการทำโคก หนอง นา ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 โดยเริ่มต้นที่การปลูกลำไยของจังหวัดน่านให้เป็นผลผลิตลำไยอินทรีย์
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวว่า ขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้อาหารของเมืองไทยกลายเป็นยา ปราศจากสารพิษ ปราศจากสารเคมี พร้อมแสดงความยินดีกับ นายปรเมศวร์ สิทธิวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเขาใหญ่ พาโนรามา จำกัด,ศ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ (อ.บี๋)จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและทางบริษัทไทธนบุรีฯ ที่ทำให้ทุกอย่างลงตัวจะสามารถพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้
โดยทุกคนเชื่อมั่นในแนวพระราชดำริ ความสำเร็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานให้กับพี่น้องคนไทยและทรงทำเป็นตัวอย่างไว้ว่า “เรื่องแรก เราต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ก่อน ก่อนจะก้าวสู่ความมั่งคั่ง ร่ำรวยต่อไป”
สำหรับศาสตร์พระราชาตามทฤษฎีใหม่รูปแบบโคก หนอง นา โมเดล ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงปัจจุบันเป็นสิ่งที่คนไทยให้การยอมรับว่า เป็นสิ่งที่เรามาถูกทางแล้ว กรมการพัฒนาชุมชนได้พยายามขับเคลื่อนแนวทางศาสตร์พระราชา โดยขอให้ทุกภาคส่วนช่วยส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนมีพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ เพื่อการพึ่งพาตนเอง ได้บริโภคพืชผักปลอดภัยและเป็นยา อีกทั้งส่งเสริมอาชีพโดยทำให้ทุกหมู่บ้าน มีพี่น้องประชาชนสมัครใจที่จะประกอบอาชีพตามรูปแบบโคก หนอง นาโมเดล วันนี้เป็นเหมือนวันที่จะทำให้มีความเชื่อมั่นว่า การทำเกษตรอินทรีย์ จะเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ทำแล้วได้บุญ คือ ทำให้ทุกคนปลอดภัยและทำให้โลกมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ต้องกังวลเรื่อง PM 2.5 เพราะเกษตรอินทรีย์ต่อต้านการเผา
ที่สำคัญงาน “โครงการโคก หนอง นา ป่าลำไย ลุ่มน้ำน่าน” วันนี้ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นว่า วิชาการจากรั้วมหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบธุรกิจ อย่างบริษัทไทธนบุรี,บริษัทเขาใหญ่ พาโนรามา มีอุดมการณ์ทำธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ใช่เพื่อความมั่งคั่งและความร่ำรวยเพียงอย่างเดียว โดยจะสามารถทำให้เกษตรกรมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ช่วยทำบุญให้กับลูกหลานของเราในยุคต่อ ๆ ไปได้มีโลกที่สวยงามได้อยู่อาศัย ตนยินดีและเต็มใจที่ได้มีโอกาสมาเป็นส่วนหนึ่ง แม้ว่าเป็นส่วนเล็ก ๆ ในการที่จะร่วมขับเคลื่อนและเชื่อว่า โครงการนี้จะทำให้เกิดกระแสตื่นตัวให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
ด้านนายปรเมศวร์ สิทธิวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเขาใหญ่ พาโนรามา ฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ลดภาระหนี้สิน ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมถึงเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำและลดปัญหาอุทกภัย โดยนำโครงการแปลงเกษตรทฤษฏีใหม่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ “โมเดล โคก หนอง นา” มาใช้กับพื้นที่เดิมที่เป็นสวนลำไย ซึ่งจะไม่ได้มีสวนลำไยอย่างเดียว แต่แปลงสวนลำไยที่เป็นเชิงเดี่ยวให้เป็นเกษตรผสมผสาน มีน้ำหล่อเลี้ยงสวนลำไยและแก้ปัญหาและลดใช้เคมี ถือเป็นโครงการโคก หนอง นา ป่าลำไยโครงการแรก โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านการอบรม และต้องหยุดใช้เคมีเพื่อเดินหน้าเปลี่ยนถ่ายสู่การทำเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งส่งเสริมโดยรับซื้อผลผลิตลำไยให้เพิ่มจากราคาที่ตกลงกันอีก 20-30% จากราคาตลาด
เบื้องต้นมีพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ลำไยเข้าร่วมโครงการ 6 แปลงรวมเกษตรกร 480 รายหรือ 480 แปลงเล็กพื้นที่รวมประมาณ 2,000 ไร่ ได้แก่ แปลงลำไย ต. พญาแก้ว อ.เชียงกลาง, แปลงลำไยบ้านตึ๊ด ต.เชียงคาน อ.เชียงกลาง, แปลงลำไยต.ตาลชุม อ.ท่าวังผา, แปลงลำไยต.เมืองจัง อ.ภูเพียง, แปลงลำไยต.ขึ่ง อ.เวียงสา และ แปลงลำไย ต.อ่ายนาไลย อ.เวียงสา ในปีหน้า 2564 จะขยายผลโครงการไปที่ จ.ลำพูนและปี 2565 ขยายไปที่ จ.เชียงใหม่
นายปรเมศวร์กล่าวต่อว่า ผลผลิตลำไยที่รับซื้อจากเกษตรกรจะนำมารองรับการผลิต “เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพลำไยไซรัปเห็ดหลินจือ” เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการวิจัยรองรับผลงานของ ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ (อ.บี๋) จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักนวัตกรมือหนึ่งของประเทศไทยและติดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติและผ่านการวิจัยในมนุษย์ เคยได้รับรางวัลเหรียญทอง เหรียญไดมอนด์ และถ้วยทอง จากการประกวดงานนวัตกรรมโลก “World International Innovation 2019” ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ของไทยที่ได้รับรางวัลใหญ่ระดับโลก และเป็นที่หนึ่งในงาน ซึ่งจะช่วยปูทางผลิตภัณฑ์ของคนไทยส่งออกสู่ตลาดโลกต่อไป
“งานวิจัยพบว่า ผลิตภัณฑ์นี้มีค่าดัชนีน้ำตาล Glycemic Index ต่ำ ผู้ป่วยโรคเบาหวานรับประทานได้ อีกทั้งมีสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) สูง ช่วยลดการอักเสบเฉียบพลันที่เป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วยของร่างกาย สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ช่วยในการนอนหลับ ช่วยให้หลับลึกกว่าปกติ อันจะส่งผลดีต่อเซลล์ในร่างกายให้ทำหน้าที่ซ่อมแซมตัวเองได้ดี ซึ่งเป็นการรักษาโรคที่ดีที่สุด”
ทั้งนี้ได้วางแผนการตลาดโดยใช้ออร์เดอร์นำการผลิต ซึ่งหมายถึง ให้มีออร์เดอร์มาก่อนจึงค่อยผลิต โดยขณะนี้มีออร์เดอร์มาแล้วจากจีน 200,000 ขวด ประเมินแล้วคาดว่าจะต้องสำรองผลผลิตลำไยประมาณ 2,000,000 กิโลกรัม รอฤดูกาลผลิตลำไยในเดือนสิงหาคม ตั้งเป้า 1 ปีแรกผลิตจำนวน 100,000 ขวดต่อเดือน หลังจากนั้นในปีถัดไปจะขยายเพิ่มเป็นประมาณ 8 เท่า ส่วนตลาดที่มองไว้เบื้องต้นมีจีนและอินเดีย โดยจะมีบริษัท ไทธนบุรีคอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่าย