วช.เปิดฉากยิ่งใหญ่ “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค63” ชูแนวคิด “งานวิจัยเพื่อสร้างชุมชนนวัตกรรมและเศรษฐกิจภูมิภาค”
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับจังหวัดอุตรดิตถ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์และเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคเหนือ จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2563 (Regional Research Expo 2020)” เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดหลัก “งานวิจัยเพื่อสร้างชุมชนนวัตกรรมและเศรษฐกิจภูมิภาค” โดยเชื่อมโยงแนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor (LIMEC) ระหว่างวันที่ 1 – 2 มีนาคม 2563 ณ อาคารหอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ลำรางทุ่งกะโล่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ระบุนักวิจัยต้องทำงานตอบโจทย์เชิงพื้นที่และนำผลงานวิจัยใช้ได้จริง มีประโยชน์ต่อสังคม คนท้องถิ่น
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด “งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand Research Expo)” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 ใต้แนวคิด “งานวิจัยเพื่อสร้างชุมชนนวัตกรรมและเศรษฐกิจภูมิภาค” ระหว่างวันที่ 1 – 2 มีนาคม 2563 ณ อาคารหอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ลำรางทุ่งกะโล่ จังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม ที่ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อสร้างชุมชนนวัตกรรมและเศรษฐกิจภูมิภาค” โดยมีนายธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ และรองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ กล่าวต้อนรับ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ กล่าวว่า มหกรรมวิจัยส่วนภูมิภาคเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการวิจัยของประเทศไทย เป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของประเทศที่ต้องการขยายให้เห็นว่า งานวิจัยสามารถที่จะสร้างประโยชน์ได้อย่างแท้จริง และไม่ใช่เป็นประโยชน์เฉพาะในทางวิชาการที่เกิดขึ้นกับคนไม่มาก แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องขยายผลไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของประเทศต่อไป
ในระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาบทบาทวช.ได้จัดงานมหกรรมวิจัยประจำปีในช่วงเดือนสิงหาคม และจากการเห็นการขยายและบทบาทของมหาวิทยาลัย และส่วนงานต่าง ๆ การขยายบทบาทในภูมิภาคจึงเป็นเรื่องที่ประเทศต้องมุ่งเน้นและพัฒนาให้มากขึ้น จึงได้จัดงานมหกรรมวิจัยขยายจากที่จัดขึ้นในส่วนกลางกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของประเทศหมุนเวียนจัดขึ้นตามลำดับ โดยปีนี้จัดขึ้นที่ภาคเหนือและขอบคุณทางมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ที่เป็นแม่งานเครือข่ายในภาคเหนือจัดงานร่วมกัน
ทั้งนี้งานมหกรรมวิจัยส่วนภูมิภาคเป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการกระจายความรู้ การมีส่วนร่วมของทั้งภาควิชาการ ภาคการศึกษา ภาคท้องถิ่นและภาคการใช้ประโยชน์ เพราะนอกจากการดูแลเรื่องการงานวิจัยเพื่อประโยชน์ทางวิชาการแล้ว จำเป็นต้องกระจายความรู้ กระจายโอกาส การเข้าถึงเพื่อนำการวิจัยไปใช้ประโยชน์ด้วย
งานนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนในส่วนภูมิภาคเกิดความสนใจ นำเอางานวิจัยมาประยุกต์ใช้กับตนเอง และมีส่วนร่วมทำให้สังคมได้ทราบว่า งานวิจัยของประเทศไทยมีความก้าวหน้าไปอย่างไร ตรงต่อความต้องการของประชาชนในทางเศรษฐกิจ สังคมหรือไม่อย่างไร ทำให้ประชาชนและองค์กรบริหารในส่วนภูมิภาค มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น แสดงความต้องการ ทั้งในแง่ของการกระตุ้นว่า ต้องการให้นักวิจัยทำวิจัยเรื่องอะไร และมีส่วนร่วมทั้งในแง่ของการวิจัยและการขยายผล โจทย์วิจัย จะต้องตรงกับความต้องการของในพื้นที่และตรงกับความต้องการของส่วนภูมิภาคเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับหัวข้องานวิจัยและกิจกรรมในครั้งนี้ที่มุ่งเน้น “งานวิจัยเพื่อสร้างชุมชนนวัตกรรมและเศรษฐกิจภูมิภาค” เป็นหัวข้อสำคัญที่ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความสำคัญอย่างยิ่งและสอดพ้องยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ออวน.) ที่มองว่า ประเทศไทยจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนไม่ใช่เพียงความเป็นเลิศทางด้านวิชาการเท่านั้น แต่ประเทศจะต้องได้ประโยชน์ด้วย ในการขับเคลื่อนงานอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจึงกำหนดชัดว่า จะทำไปเพื่ออะไร ซึ่งมี 4 อย่างคือ
1.การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ เราจำเป็นต้องวางบทบาทของกระทรวงอว.เพื่อสร้างคน สร้างนักศึกษาที่ดี สร้างปัญญาชนของประเทศ สร้างคนที่จะเป็นคนรุ่นใหม่ของประเทศ และทำให้ประเทศมีความรู้พร้อมตอบปัญหาในระยะสั้น กลางและระยะยาวได้
2.การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายสังคมของประเทศ โจทย์สำคัญมีอยู่มาก เช่น ทำอย่างไรเราถึงจะแก้ปัญหาหมอกควัน PM25 ทำอย่างไรจะทำให้ระบบการขนส่งการจราจรของประเทศมีประสิทธิภาพดีขึ้น ทำอย่างไรจะทำให้ชุมชน ประชาชนของประเทศมีสุขภาพดีขึ้น เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเทศมีความพร้อมหรือไม่ หรือเรื่องท้าทายการระบาดของโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำที่ต้องใช้การวิจัยมาช่วย
3.การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
4.การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้ทุกส่วนของประเทศ ทำให้ประชาชนทุกคนเดินหน้าไปได้
“ในด้านการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำนั้น งานมหกรรมส่วนภูมิภาคจะมีบทบาทสำคัญ เพราะการที่จะพัฒนาต่อไป รวมถึงในเชิงเศรษฐกิจ การขยายตัวของภูมิภาคจะเป็นกลไกหรือเครื่องจักรสำคัญทำให้เศรษฐกิจประเทศมีการเติบโต ขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในภูมิภาค จึงจำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน
เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนและการขยายตัวของชนบทหรือชุมชนเมืองต่างๆ เป็นเป้าหมายชัดเจนในยุทธศาสตร์ของออวน. ที่จะมุ่งให้ประชาชน เกษตรกรในพื้นที่ มีรายได้สูงขึ้น โดยจะต้องเกิดการพัฒนาชุมชนอย่างน้อยที่สุด 100,000 ครัวเรือนต่อปี เพิ่มรายได้และสร้างชุมชนนวัตกรรม และได้เป็นที่มาของ หัวข้อมหกรรมการวิจัยส่วนภูมิภาคในครั้งนี้
สิ่งสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความรู้ คือ จะต้องทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ยกระดับรายได้ของประชาชนและเกษตรกรที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศให้มีฐานะทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ กล่าวอีกว่า การวิจัยที่นักวิจัยดำเนินการจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามเชิงพื้นที่และดำเนินการวิจัยให้ตรงกับความต้องการ และนำผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นมาสร้างมูลค่า สร้างศักดิ์ศรีและการใช้ทรัพยากรในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ งานวิจัยจะต้องไม่สิ้นสุดที่การวิจัยเสร็จ แต่ต้องมีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง นำไปทดสอบใช้ในสถานการณ์จริงและขยายผลจริง และมีคนที่ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ยังต้องอาศัยกลไกพหุภาคี ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน องค์กรในพื้นที่และทางต่างประเทศมาร่วมด้วย โดยมหาวิทยาลัยราชภัฎเป็นองค์ประกอบสำคัญ พร้อมชื่นชมมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ที่ได้แสดงบทบาทในเรื่องนี้และได้ดำเนินการตรงกับประเด็นต่าง ๆ ที่กล่าวมา
ในตอนท้าย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ยังได้ฝากให้ดูแลทรัพยากรธรรมชาติของประเทศด้วย โดยกล่าวว่า “ในการพัฒนาของประเทศ ยังมีสิทธิอื่นต้องดูแลด้วย โดยนอกจากดูแลเศรษฐกิจประเทศ ดูแลประชาชนแล้ว ทางการยังต้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติด้วย องค์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องพัฒนาให้มีความยั่งยืน ประชาชนได้ประโยชน์ เราต้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้มีความยั่งยืนไม่สูญเสียไป ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญและกำหนดไว้อย่างชัดเจนในยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”
ด้านผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์กล่าวว่า มหกรรมวิจัยส่วนภูมิภาคนี้จัดเป็นครั้งที่ 8 ใต้แนวคิด “งานวิจัยเพื่อสร้างชุมชนนวัตกรรมและเศรษฐกิจภูมิภาค” เนื่องจากภาคเหนือเป็นภูมิภาคอยู่บนสุดของไทย มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับอาณาจักรล้านนา รวมทั้งภาคเหนือยังเป็นระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย (Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor: LIMEC) สู่การใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านระหว่างแขวงหลวงพระบาง แขวงไชยบุรีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมายังด่านพรมแดนภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ของประเทศไทยและพื้นที่อินโดจีนหรือพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง1 ซึ่งประกอบด้วย 5 จังหวัดได้แก่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัยและตาก โดยออกจากประเทศไทย ณ ด่านพรมแดนแม่สอด จ.ตาก เข้าสู่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมามาที่ด่านเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ ดังนั้นมหกรรมวิจัยส่วนภูมิภาคครั้งนี้ จึงมุ่งนำเสนองานวิจัยที่มีความสอดคล้องกับ LIMEC และงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนสร้างชุมชนนวัตกรรมและสร้างเศรษฐกิจภูมิภาค เพื่อการจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่องไปในอนาคต
ทั้งนี้ภายในงานประกอบด้วย การแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและนิทรรศการผลงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐจ.อุตรดิตถ์ จำนวนกว่า 100 ผลงาน การประชุมสัมมนาวิชาการ ลานตลาด 3 วัฒนธรรมและกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย
ตัวอย่างของผลงานเด่นที่จะนำมาจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปมะขามหวานครบวงจร เทคโนโลยีการแปรรูปมะม่วงเชิงพาณิชย์ เทคโนโลยีแปรรูปสับปะรดครบวงจร เทคโนโลยีแปรรูปกาแฟวนเกษตร เทคโนโลยีลางสาด signature เป็นต้น