วสท. ส่งมอบตู้ความดันลบ 18 รพ.จังหวัดชายแดนใต้-เหนือ สู้ภัยโควิด-19
ครั้งแรกของประเทศไทยและของโลก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)ได้ออกแบบ“ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet)” นวัตกรรมระบบน็อคดาวน์ ต้นทุนต่ำ โครงสร้างเบา และเคลื่อนย้ายได้โดยฝีมือคนไทย จากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จำนวนผู้ติดเชื้อและบุคลากรการแพทย์เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ตอบสนองการขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนสามารถนำแบบไปผลิตใช้งานเป็นตู้แยกผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาลและลดความเสี่ยงของแพทย์พยาบาล
ก่อนหน้านี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับภาคเอกชนผู้บริจาคทุนการผลิตบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้ส่งมอบ“ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet)” จำนวน 132 ตู้แก่กรมแพทย์ทหารบกเพื่อใช้ประโยชน์ในโรงพยาบาลในกำกับกรมแพทย์ทหารบกทั่วประเทศ
ล่าสุด วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท., คุณจีระศักดิ์ ปราชญ์โกสินทร์ เลขาธิการ วสท, คุณบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID-19 วสท. พร้อมด้วย รศ.ดร.สมิตร ส่งพิริยะกิจ ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. และคณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เข้าตรวจการประกอบและทดสอบประสิทธิภาพ ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) ณ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จบางซ่อน พร้อมทั้งส่งมอบ 29 ตู้ แก่ 18 โรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) และจังหวัดสงขลา , โรงพยาบาลเชียงคำ จังหวัดพะเยา จำนวน 1 ตู้ และโรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 ตู้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 31 ตู้
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ด้วยความร่วมมือจาก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้เร่งสร้าง “ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet)” ตามแบบที่กำหนดของ วสท. และได้ส่งมอบให้กับ 18 โรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดสงขลา รวมทั้งภาคเหนือ ได้แก่ โรงพยาบาลเชียงคำ จังหวัดพะเยา และโรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ผลการตรวจทดสอบการผลิตตู้ความดันลบนี้ ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดเป็นอย่างดี ทั้งการรักษาระดับความดันลบภายในตู้ความดันลบ อัตราการระบายอากาศ 12 ครั้งต่อชั่วโมง และการควบคุมอุณหภูมิภายในตู้ให้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิภายนอกตู้ความดันลบ นอกจากนี้ยังผ่านการทดสอบการลามไฟของพลาสติกที่ใช้ทำผนังและหลังคาตู้ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่ไม่อนุญาตให้ใช้วัสดุที่ติดไฟได้ในอาคาร โดยอาศัยมาตรฐานสากล UL 94 : Standard for Safety of Flammability of Plastic Materials for Parts in Devices and Appliances Testing เป็นแนวทาง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้งานซึ่งเป็นบุคคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเปรียบเสมือนนักรบในสงครามชีวภาพ ผู้รับภาระหนักในการดูแลรักษาประชาชนและหยุดยั้งการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
คุณบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID-19 วสท. กล่าวว่า ในด้านการประกอบตู้ความดันลบ มีการวางแผนการจัดการเป็นไลน์การประกอบ และถอดประกอบแบบน็อคดาวน์ แบ่งงานตามขั้นตอน ทำให้การประกอบเสร็จอย่างรวดเร็ว และทำให้ช่างทั่วไปสามารถนำชิ้นส่วนเหล่านี้มาประกอบได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้แต่ละตู้ความดันลบที่ถอดประกอบเป็นชิ้นส่วนลงหีบห่อนั้น ยังได้เตรียมเครื่องมือที่จำเป็น เช่น ค้อนยาง ค้อนไม้ ระดับน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานโรงพยาบาลปลายทาง ส่วนในการประกอบติดตั้งนั้น วสท.จัดวิศวกรอาสาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ วสท. ทั่วทุกภาคของประเทศไทยจำนวนกว่า 500 คน จะช่วยเหลือโรงพยาบาลในการประกอบตู้ความดันลบตามรูปแบบของ วสท. รวมทั้งทำการทดสอบสมรรถนะการทำงาน และดูแลให้บุคลากรการแพทย์ได้ใช้งานอย่างสะดวกและปลอดภัย
สำหรับการส่งมอบตู้ความดันลบ 31 ตู้ แก่ 18 โรงพยาบาล ประกอบด้วย จังหวัดยะลา ได้แก่ โรงพยาบาลยะลา, โรงพยาบาลบันนังสตา, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ยะหา, โรงพยาบาลเบตง จังหวัดปัตตานี ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี, โรงพยาบาลทุ่งยางแดง, โรงพยาบาลไม้แก่น, โรงพยาบาลหนองจิก, โรงพยาบาลโคกโพธิ์ จังหวัดนราธิวาส ได้แก่ โรงพยาบาลกัลยานิวัฒนาการุณย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, โรงพยาบาลบาเจาะ, โรงพยาบาลระแงะ, โรงพยาบาลตากใบ, โรงพยาบาลเจาะไอร้อง จังหวัดสงขลา ได้แก่ โรงพยาบาลสงขลา ส่วนภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดพะเยา ได้แก่โรงพยาบาลเชียงคำและจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ โรงพยาบาลสันทรายเป็นต้น
ผู้ประสงค์จะรับแบบรายละเอียดคู่มือติดตั้ง ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ วสท.: www.eit.or.th หรือติดต่อได้ที่ คุณอรัญญา ขาวสุวรรณ โทรศัพท์ 02-9356509, 081-914-0301 Email : aranya@eit.or.th
วสท.หลอมรวมพลังความร่วมมือฝ่าวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ด้วยความรักสามัคคี องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์และความรับผิดชอบต่อสังคม