มุมเกษตร..ชาวนาลานกระบือ หันปลูกข้าวเปียกสลับแห้งแกล้งดิน ช่วยลดต้นทุน-โรคแมลง-ผลผลิตสูง
ปีนี้ประเทศไทยประสบภาวะภัยแล้งที่รุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปี หลายพื้นที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรโดยเฉพาะชาวนา เมื่อแหล่งน้ำบนดินแห้งขอดหลายพื้นที่ต้องรอคอยน้ำฝนจากฟ้า แต่หลายแห่งยังคงทำนาปลูกข้าวได้โดยไร้ปัญหา เพราะขุนทรัพย์ที่มีค่าจากแหล่งน้ำใต้ดิน ดังเช่น ในพื้นที่อำเภอลานกระบือ และอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร
นายสำเนา นาคสวัสดิ์ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) ตำบลหนองหลวง อำเภอลานกระบือ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่นี่เราไม่เคยหยุดทำนา เพราะในพื้นที่ของอำเภอลานกระบือ มีแหล่งน้ำใต้ดินเกือบทุกตำบล รวมถึงอำเภอพรานกระต่าย อย่างทางเทศบาลคลองพิไกร เทศบาลตำบลเขาคีริส ที่มีแหล่งน้ำใต้ดินสามารถปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปี เช่นที่ บ้านลำมะโกรก หมู่ที่ 2 ตำบลหนองหลวง ทำนาปลูกข้าว 3 ครั้งต่อปี เป็นนาปี 1 ครั้ง คือ เดือนสิงหาคม จะเป็นการปลูกข้าวหอมมะลิ และเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคม จากนั้นก็จะเริ่มทำนาปรัง 2 ครั้ง โดยจะเริ่มเดือนธันาคม ไปเก็บเดือนมีนาคม และปลูกอีกรอบในเดือนเมษายนแล้วไปเก็บเดือนกรกฎาคม จากนั้นก็เริ่มปลูกข้าวหอมมะลิอีกครั้งในเดือนสิงหาคม หมุนเวียนกันไปตลอดทั้งปี ที่นี่จึงไม่เคยหยุดทำนาเหมือนกับพื้นที่อื่น ข้าวที่ผลิตได้กว่า 1,000 ตันต่อปีจะมีตลาดรองรับ โดยผลผลิตส่วนใหญ่มาจากกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ มีสมาชิก 51 ราย มีพื้นที่รวมกันกว่า 700 ไร่
สำหรับเกษตรกรนาแปลงใหญ่ เป็นการรวมกลุ่มกันผลิตสินค้าเกษตรตามนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มและบริหารจัดการร่วมกัน สร้างความเข็มแข็งให้กับชุมชนและสามารถพึ่งพาตนเองได้ อาศัยแหล่งน้ำใต้ดินเป็นหลัก โดยจะมีบ่อบาดาลหรือบ่อน้ำตื้นใช้กันทุกบ้าน และทุกแปลง ๆ อาจมีบ่อน้ำได้ 4 – 6 บ่อ หนึ่งบ่อสามารถใช้น้ำได้กับพื้นที่ 10 – 20 ไร่ ประกอบกับในพื้นที่ยังมีบึงสาธารณะขนาดกว่า 300 ไร่ เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ ที่นี่จึงไม่เคยขาดแคลนน้ำ
นายสำเนา กล่าวต่อว่า ในอดีตเมื่อ 50 ปีก่อน พื้นที่ ต.หนองหลวง ฝนยังตกต้องตามฤดู จึงมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ ถือเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำเกษตร กระทั่งกรมชลประทานเข้ามาขุดลอกคลองส่งน้ำ แม้ที่นี่จะไม่ได้รับน้ำโดยตรง แต่ก็ได้รับอานิสงส์จากการปล่อยน้ำมาตามคลองต่าง ๆ จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) สำนักงานชลประทานที่ 4 จังหวัดกำแพงเพชร คือ น้ำที่ซึมผ่านลงชั้นใต้ดิน เป็นการช่วยเติมน้ำใต้ดิน ทำให้บ่อที่มีความลึกประมาณ 15 เมตร มีน้ำอยู่ตลอดทั้งปี
แน่นอนว่า ในห้วงเวลาที่เกิดวิกฤตแล้งไปทั่ว ประกอบกับมีโครงการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานภาคกลางตอนบน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ สกสว. นายสำเนา บอกว่า แม้จะมีแหล่งน้ำใต้ดินให้ใช้ตลอดทั้งปี แต่คนในตำบลหนองหลวงก็หันที่ทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งก็เป็นวิธีการลดการใช้น้ำแบบหนึ่ง อีกทั้งได้ผลผลิตข้าวมากถึง 1 ตันต่อไร่ ถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่ใช้
“การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง หลังจากลงกล้าได้ 2 เดือน จะระบายน้ำออกจากแปลงนา ปล่อยให้น้ำแห้งประมาณ 15 วัน แล้วจึงปล่อยน้ำเข้า ทำสลับกันแบบนี้จนถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยว ซึ่งวิธีนี้นอกจากเป็นวิธีลดการใช้น้ำแล้ว ยังลดการรบกวนของแมลงศัตรูพืชได้อีกด้วย”
นายสำเนา กล่าวว่า โดยปกติทุกปีผลผลิตข้าวที่ได้จะอยู่ที่ 800 -1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าไม่มีการระบาดของแมลง และไม่ว่าจะทำนาด้วยวิธีเดิม หรือการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ผลผลิตที่ได้ไม่ต่างกัน จะใช้น้ำมากหรือใช้น้ำน้อยก็ได้ข้าว 1 ตันเหมือนกัน เราจึงเปลี่ยนมาเป็นการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งแทน ซึ่งก็ช่วยลดปริมาณน้ำใช้ลงได้ครึ่งหนึ่ง
ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมชลประทานที่ได้ศึกษาวิจัย พบว่า การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว สามารถลดปริมาณการใช้น้ำในการทำนาได้ถึง 28% ของปริมาณน้ำที่ใช้ในการทำนาแบบทั่วไป จากปกติจะใช้น้ำถึง 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ แต่ถ้าทำนาแบบเปียกสลับแห้งจะใช้น้ำเพียง 860 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่เท่านั้น นอกจากจะลดการใช้ปริมาณน้ำลงแล้ว ยังช่วยให้ต้นทุนการผลิตข้าวลดลงทั้งเรื่องการใช้ปุ๋ย การใช้สารเคมี และน้ำมันเชื้อเพลิง ได้กว่า 40% รวมทั้งคุณภาพข้าวดีขึ้น และมีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นกว่าไร่ละ 1,200 ลูกบาศก์เมตร การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ถือเป็นหนึ่งในวิธีการประหยัดน้ำในการทำนาที่หลายๆ ประเทศนำไปเป็นแบบอย่าง ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวแบบประหยัดน้ำโดยวิธีเปียกสลับแห้ง สามารถปลูกได้ทั้งนาปรังและนาปี
…เพราะน้ำเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป จึงต้องรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด และสร้างความตระหนักถึงคุณค่า เพื่อความมั่นของน้ำในอนาคต