โพลพบประชาชน 81% ไม่กระทบเว้นวรรคออกสลาก
โพลช่วงเว้นวรรคออกสลากฯ พบ ประชาชนร้อยละ 81 ไม่ได้รับผลกระทบ ชี้ไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิต นักวิชาการหวั่นหากรีบกลับมาขาย อาจซ้ำเติมสถานการณ์ เตือนไม่ควรประมาทโควิด-19
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล มีมติเลื่อนการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดวันที่ 1 เมษายน 2563 ออกไปเป็นวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 นั้น ทางมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนในหัวข้อประชาชนคิดอย่างไรช่วงเว้นวรรคออกหวย ผ่านระบบกูเกิ้ลฟอร์ม ระหว่างวันที่ 16-30 เมษายน 2563 ผลสำรวจพบว่าประชาชนร้อยละ 81 ไม่ได้รับผลกระทบจากการเลื่อนการออกรางวัล เพราะไม่ได้เล่นประจำ และมองว่าหวยไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิต ขณะที่ร้อยละ 14 ได้รับผลกระทบทางบวกคือ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง มีเงินเหลือไว้ใช้จ่ายสิ่งที่เป็นประโยชน์ ได้ทบทวนการซื้อหวยของตัวเอง ทั้งยังมีเวลาให้ครอบครัว และมีสมาธิในการทำงานมากขึ้น ส่วนอีกร้อยละ 5 ได้รับผลกระทบทางลบเพราะขาดรายได้ ขาดสิ่งบรรเทาความเครียด
นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้ยังถามด้วยว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อกลับมาออกรางวัลและจำหน่ายสลากอีก พบว่าร้อยละ 40 คิดว่าประชาชนจะซื้อหวยน้อยลงเพราะเศรษฐกิจฝืดเคือง การเว้นวรรคทำให้ลืมเรื่องหวยไป ขณะที่ร้อยละ 60 คิดว่าประชาชนจะกลับมาซื้อสลากเหมือนเดิมเพราะไม่ได้ซื้อมานานแล้ว พร้อมกันนี้ยังถามถึงข้อเสนอที่มีต่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พบว่าประชาชนร้อยละ 59 เสนอให้ขยายเวลาการงดออกรางวัลไปอีกสักระยะ เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ และเสนอให้ลดการออกสลากเหลือเพียงเดือนละ 1 ครั้งหลังจากนี้ ถัดมาร้อยละ 24 เสนอให้กลับมาขายสลากตามเดิม เพื่อให้ประชาชนยังได้ลุ้นได้หวัง ขณะที่ร้อยละ 15 เสนอให้เปลี่ยนมาขายสลากทางออนไลน์เพื่อลดการสัมผัส และตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง และมีเพียงร้อยละ 2 เสนอให้ออกสลากชนิดใหม่ๆ
นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภาและอดีตนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การพัฒนาแพลตฟอร์มให้มีช่องทางการจำหน่ายสลากทางออนไลน์เป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านการจำหน่ายสลากใบไปสู่ระบบออนไลน์ ซึ่งอาจมาถึงในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า และจะเป็นการสร้างความปกติใหม่ที่สะดวกและปลอดภัย โดยไม่จำเป็นต้องออกผลิตภัณฑ์สลากตัวใหม่ๆ โดยยังคงการออกสลากหกตัวเหมือนเดิม สามารถแก้ปัญหาแก่ทุกฝ่ายได้ภายใต้เงื่อนไขเดิมทุกประการ เพราะจะเป็นระบบการจำหน่ายที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ช่วยให้การแสวงหากำไรในที่มืดหมดไป แต่ที่สำคัญคือแพลตฟอร์มนี้ต้องเปิดให้ผู้ค้าทุกคนได้รับประโยชน์ เพื่อไม่ให้ผู้ค้ารายย่อยต้องล้มหายตายจากไป
ด้าน รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวว่า เราพบว่ากลุ่มผู้ซื้อสลากมากที่สุดเป็นกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย สถานการณ์หลังจากนี้จึงน่ากังวล หากสำนักงานสลากฯ จะออกสลากมาจำหน่ายโดยเร็ว เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดการนำเงินมาเสี่ยงโชค แทนการเก็บไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น อีกทั้งขณะนี้ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จะยุติลงเมื่อใด หากวันหนึ่งกลับมาแพร่ระบาดอีก ต้องมีการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ย่อมกระทบต่อรายได้ประชาชน จึงเสนอให้สำนักงานสลากฯ ออกรางวัลงวดนี้ให้จบ แล้วชะลอการออกสลากงวดต่อไปออกไปก่อน ส่วนแนวคิดออกสลากชนิดใหม่ๆ หลังจากนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วน การออกสลากมาเยอะ อาจเป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำและทำให้เงินรั่วไหลออกจากระบบเศรษฐกิจมากขึ้น พร้อมเสนอให้รัฐบาลพัฒนาระบบการกำกับดูแล และถ่วงดุลไม่ให้มีการพนันมากเกินไปในสังคม