วช. เดินหน้าต่อยอดจากโควิด สู่ “Healthcare Reinvention” ยกระดับนวัตกรรมการแพทย์ไทย
ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานและมอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “Healthcare Reinvention” ซึ่งนำเสนอโดย ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ณ ห้องประชุมพันเอกอาทร ชนเห็นชอบ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ร่วมกับผู้บริหารจากกระทรวงสาธารณสุข, นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ, นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร, นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผอ.สวรส., ศ.นพ. ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, ผู้แทนจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้บริหารจากกระทรวง อว. ซึ่ง อว. ได้มุ่งให้เป็นกลไกอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG โดยยกระดับนวัตกรรมการบริการและการแพทย์ (Healthcare Reinvention) ใน 4 เรื่องสำคัญคือ การวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และอุตสาหกรรมการผลิต (Research and Development, Innovation and Manufacturing: RDIM), กฎระเบียบ (Regulation), โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital)
ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้นำเสนอว่ากระทรวง อว. ได้มีบทบาทสำคัญในการวิจัย พัฒนาและการผลิตเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการเพื่อบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะต่อยอดนวัตกรรมการแพทย์ไทยสู่ “Healthcare Reinvention” และได้กำหนดเป้าหมาย “Healthy Thais, and Emerging industries” โดยให้มีประเด็นมุ่งเน้น (Priority areas) 8 ประเด็นของ Healthcare คือ 1) Personalized Medicine 2) Vaccines and New Medicines 3)Medical Devices 4)Telemedicine 5)Clinical Research Infrastructure 6) Herbal and Traditional Medicine 7) Nutraceuticals 8) Medical Tourism
ที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องกันว่าเรื่อง Healthcare Reinvention เป็นเรื่องสำคัญมากและเป็นประเด็นที่ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็ง ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และสามารถต่อยอดได้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม โดยแนวทางการดำเนินงานการขับเคลื่อนให้เกิดผล, หลักการ Guiding Principles และการเลือกหัวข้อประเด็นมุ่งเน้นตามที่เสนอขึ้นมีความเหมาะสมแล้ว
สิ่งสำคัญต่อมาคือ การจัดลำดับประเด็นสำคัญ โดยเลือกและทำในแต่ละประเด็นให้ครบวงจร ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสแสดงให้เห็นความสำคัญของการทำ Healthcare Reinvention รวมไปถึงบทบาทของ อว. ซึ่งควรมุ่งเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ (Health Technology) ทั้งด้านการรักษาและบริการในประเด็นต่างๆ ที่เสนอไว้ โดยขับเคลื่อนจากบทบาทบูรณาการทั้งภาคการวิจัยและนวัตกรรม และภาคการพัฒนากำลังคน
และหลังจากการประชุมครั้งนี้ วช. ได้จัดทำ (ร่าง) กลไกและการขับเคลื่อน Healthcare Reinvention หารือกับผู้ที่จะขับเคลื่อนประเด็นหลักแต่ละประเด็นเพื่อลงรายละเอียด 8 ประเด็นต่อไป