ม.บูรพาเล็งโชว์ “การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลด้วยเทคโนโลยี RO” งาน Thailand Research Expo 2020
“มหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2563” หรือ “Thailand Research Expo 2020” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” ใกล้เข้ามาแล้ว งานจะมีขึ้นระหว่าง 2-6 สิงหาคม 2563 ณ ชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ หน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศเตรียมโชว์สุดยอดงานวิจัยมากกว่า 300 ผลงาน เช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยบูรพา เตรียมโชว์ผลงานวิจัย “การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลด้วยเทคโนโลยีRevers Osmosis (RO) สำหรับการแก้วิกฤตขาดแคลนน้ำเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน” อีกผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ในกลุ่มงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG Economy Model
อาจารย์ ว่าที่ร้อยตรี พิสุทธิ์ เทศสวัสดิ์ และ ดร.บัลลังก์ เนื่องแสง ทีมวิจัยจากคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี เปิดเผยว่า การวิจัย “การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลด้วยเทคโนโลยีRevers Osmosis (RO) สำหรับการแก้วิกฤตขาดแคลนน้ำเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน” ได้เริ่มทำการศึกษาติดตั้งระบบต้นแบบในปี 2559 หลังจากทางคณะเล็งเห็นว่า สถานการณ์วิกฤตน้ำมีมากขึ้น เช่นเดียวกับจังหวัดจันทบุรี เกษตรกรขาดแคลนน้ำใช้ทำการเกษตรในช่วงฤดูร้อน
วัตถุประสงค์ในการทำโครงการวิจัยนี้จึงมุ่งสนับสนุนเกษตรกรในหน้าแล้ง โดยเฉพาะเกษตรกรพื้นที่ชายฝั่ง ขณะเดียวกันยังเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนที่อาศัยในชุมชนพื้นที่ห่างไกล หรืออาศัยอยู่บนเกาะและรีสอร์ตต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ได้ นอกจากนี้ในระบบการทำน้ำจืดจากน้ำทะเลยังมีเกิดน้ำทิ้งที่เป็นน้ำเค็มสามารถนำไปใช้เลี้ยงสัตว์น้ำ สาหร่าย และหญ้าทะเลได้อีกทางหนึ่ง
“สำหรับเป้าหมายการวิจัยในขณะนี้ยังเน้นที่เกษตรกรพื้นที่ชายฝั่งทะเลเป็นหลัก โดยในพื้นที่อื่น ๆ อาจยังมองไม่เห็นความคุ้มค่า จึงเป็นสาเหตุที่เราต้องพิสูจน์ให้เห็นค่าที่ได้จากการผลิตและปัจจุบันผลิตน้ำจืดได้ใช้ภายในวิทยาเขตแล้ว”
ทั้งนี้ในระบบวิจัยได้ใช้อุปกรณ์เครื่องมือภายในประเทศ ระบบทำงานโดยสูบน้ำทะเลมาที่พักน้ำ เพื่อกรองฝุ่นละอองออก จากนั้นกรองด้วยเทคนิค RO เพื่อให้ได้น้ำจืดมาใช้ในการบริโภคและอุปโภค โดยในการวิจัยได้มีการหาค่ามาตรฐานของน้ำทะเลที่ความเค็มระดับต่าง ๆ และค้นพบว่า น้ำทะเล 1,000 ลิตรสามารถกรองเป็นน้ำจืดได้ 400 ลิตรและได้ส่วนที่เป็นน้ำเค็มเข้มข้นสูง 600 ลิตร
อาจารย์พิสุทธิ์ เปิดเผยในตอนท้ายว่า เวลานี้ระบบสามารถทำงานได้น้ำจืดไว้ดื่มได้จริงและอยู่ระหว่างการผลักดันให้ได้มาตรฐานของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นอกจากนี้ยังกำลังพัฒนาระบบให้ถูกลง เพื่อลดต้นทุนจากระบบปัจจุบันที่มองว่ายังมีต้นทุนที่สูงอยู่ โดยแพงกว่าการผลิตปริมาณน้ำประปา เป็นมูลค่าสูงกว่าประมาณ 15-25 บาทต่อ 1,000 ลิตร หรือ 1 ยูนิต
ส่วนผลงานอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยบูรพาที่จะนำไปจัดแสดงในงานมหกรรมวิจัยในครั้งที่ 15 นี้ได้ ยังรวมถึงงานวิจัยและนวัตกรรม “INNOVATION FOR ECO-GARDENING” นวัตกรรมในสวนเพื่อสิ่งแวดล้อมของ รองศาสตราจารย์ ดร.สุปราณี แก้วภิรมย์ (คณะวิทยาศาสตร์) FerGel ปุ๋ยเคมีชนิดควบคุมการปลดปล่อยได้ พัฒนาจากวัสดุย่อยสลายได้ เมื่อได้รับน้ำและความชื้นจากดินจะบวมตัวและปลดปล่อยปุ๋ยออกมาจากเม็ดอย่างช้าๆ ในปริมาณที่ควบคุมได้ จึงช่วยประหยัดเวลาและงบประมาณของเกษตรในการให้ปุ๋ยและช่วยประหยัดปุ๋ยไม่ให้ละลายออกไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมในปริมาณมาก
และผลงานนวัตกรรม BioPot (บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกย่อยสลายได้ผสมเส้นใยธรรมชาติ) ชนิดพอลิแลคติกแอซิด(Poly(lactic acid),PLA) และพอลิบิวทิลีนซักซีเนท(Poly(butylene succinate), PBS) ผสมกับเซลลูโลสที่ได้จากธรรมชาติ เช่น แกลบ เส้นใยสัปปะรด เส้นใยจากเปลือกทุเรียน สามารถขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ได้หลายชนิดและรูปทรง หลังการใช้งานสามารถฝังกลบหรือหมักกับเศษวัสดุอื่น เพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักหรือวัสดุปลูกได้ จึงช่วยลดการใช้พลาสติกจากปิโตรเลียม ลดขยะพลาสติกและลดปัญหาการปนเปื้อนขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม
เชิญชวนไปชมงานวิจัยดี ๆ กันที่งาน “มหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2563” หรือ “Thailand Research Expo 2020” ที่จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” ระหว่าง 2-6 สิงหาคม 2563 ณ ชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์