สสส. – มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม-มูลนิธิธรรมิกชนฯ ชูศักยภาพคนพิการทางการเห็น เสริมทักษะจำเป็นช่วยให้ไม่ตกงานยุคดิจิทัล
สสส. – มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม-มูลนิธิธรรมิกชนฯ ชูศักยภาพคนพิการทางการเห็น เสริมทักษะจำเป็นช่วยให้ไม่ตกงานยุคดิจิทัล เน้น “รู้เท่าทันเทคโนโลยี มีทักษะภาษาต่างประเทศ ทำงานเป็นทีมได้” เพิ่มโอกาสจ้างงาน ผุดนวัตกรรม AI สร้างงานใหม่ พร้อมลงนาม MOU ผลิตหนังสือเสียง 1หมื่นเล่ม
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม นายธรรม จตุนาม รองประธานกรรมการ มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนางสาวเมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทวัลแคน โคอะลิชั่น โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรซ์ ร่วมกันแถลงข่าว “ถอดรหัสศักยภาพคนพิการทางการมองเห็น สู่…โอกาสการจ้างงาน” และมีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการผลิตหนังสือเสียง 10,000 เล่ม ระหว่าง มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัทบริษัทวัลแคน โคอะลิชั่น โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรซ์
นางภรณี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการร้อยละ 3.08 ของประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้มีคนพิการที่เรียนจบชั้นอุดมศึกษาร้อยละ 1.04 เกินครึ่งเป็นคนพิการทางการมองเห็น ซึ่งได้รับการจ้างงานน้อยกว่าคนพิการประเภทอื่น ๆ สสส. จึงสนับสนุนโครงการสำรวจลักษณะงาน ทักษะที่จำเป็นในการทำงาน และการช่วยเหลือที่สมเหตุสมผลต่อผู้พิการทางการเห็น โดยมีวัตถุประสงค์สำรวจอาชีพและทักษะที่เหมาะกับคนพิการทางการเห็น ในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ ยุคAI ซึ่งทักษะที่จำเป็น ได้แก่ 1.ทักษะที่ต้องใช้ความรู้ (Hard Skill) เช่น การใช้สื่ออินเทอเน็ต ทักษะภาษาต่างประเทศ ฯ 2. ทักษะทางสังคม (Soft Skill) เช่น ยอมรับตนเองในระดับดีมาก มีสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์ดี และ3. ทักษะสนับสนุน (Support skill) เช่น ปรับตัวเข้ากับองค์กรได้ดี เข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ได้รวดเร็ว
“คนพิการทางการเห็นโดดเด่นเรื่องการฟัง พูด อ่าน พิมพ์สัมผัส และถอดเทปได้ดี ดังนั้น งานที่ทำได้ 1.งานที่ใช้การสื่อสาร เช่น ประสานงาน ประชาสัมพันธ์ 2. งานที่ใช้ความรู้/ทักษะเฉพาะ เช่น งานด้านกฎหมาย งานด้านภาษา 3. งานธุรการ เช่น จดบันทึก เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ 4. งานที่ใช้เทคโนโลยี เช่น ผลิตสื่อ ฐานข้อมูล 5. งานบริการและงานนันทนาการ เช่น สร้างความบันเทิง งานให้บริการ และ 6. งานที่ใช้ประสาทสัมผัสอื่น เช่น ผู้เชี่ยวชาญในบริษัทน้ำหอม นอกจากนี้ สสส. ยังสนับสนุนเรื่องการส่งเสริมโอกาสการมีงานทำโดยสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของคนพิการและสถานประกอบการ การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการผ่านการมีส่วนร่วมในชุมชน รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพและการมีส่วนร่วมในสังคม ทั้งกิจกรรมวิ่งด้วยกัน ดูหนังด้วยกัน เป็นต้น” นางภรณี กล่าว
ด้านนายอภิชาติ กล่าวว่า โครงการจ้างงานกระแสหลัก Inclusive workplace หรือ IW ทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการจ้างงานบัณฑิตและเยาวชนที่พิการ ทำหน้าที่ออกแบบ พัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน ให้เตรียมความพร้อมก่อนเข้าทำงานจริง แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.สร้างและพัฒนากระบวนการประสานงานและส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน 2.ส่งเสริมความพร้อมในการทำงานกับบัณฑิตพิการ 3.ส่งเสริมให้นักศึกษาพิการได้ฝึกงาน 4.สนับสนุนทุนอาชีพแก่ครอบครัวเยาวชนพิการให้เข้าถึงการศึกษา ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2556
นายธรรม กล่าวว่า โครงการห้องสมุดเบญญาลัย มีเป้าหมายให้คนพิการทางการเห็นมีงานทำในยุค AI โดยจะต้องส่งเสริมด้านการศึกษา อาชีพ ฟื้นฟูสมรรถภาพเต็มที่ ผ่านระบบห้องสมุดออนไลน์ แพลตฟอร์มนี้สามารถใช้ได้ทุกคนในการเพิ่มทักษะด้านต่าง ๆ เพื่อสะท้อนความเสมอภาคในสังคม เพราะความรู้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก ย่อมสามารถสร้างความเท่าเทียมกันในสิทธิของมนุษย์
นางสาวเมธาวี กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการผลิตหนังสือเสียง 10,000 เล่มทำขึ้นมาเพื่อคนพิการวัยทำงานกว่า 3แสนคน ที่กำลังว่างงานและต้องพึ่งพาสวัสดิการของรัฐ ให้มีทักษะเท่าทันอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ ที่กำลังขาดแคลนแรงงานด้านจัดเตรียมข้อมูล (Data Labelling) ในฐานะบริษัทพัฒนาด้านนี้ จึงมองเห็นโอกาสที่จะทำให้ผู้พิการมีทักษะด้านนี้ผ่านแพลตฟอร์มและหลักสูตรออนไลน์ เพื่อสร้างโอกาสการทำงานรูปแบบใหม่ ผ่านความถนัดของผู้พิการทางการเห็น