ความน่ากลัวของผมร่วงจากหลากหลายสาเหตุ
ในทุก ๆ เช้า หากคุณได้สังเกตตัวเองพบว่ามีผมร่วงประมาณ 70-80 เส้นต่อวัน ในขณะที่ตื่นนอนหรือตอนอาบน้ำสระผม แล้วเกิดตกใจว่าเหตุใด ! ผมของเราจึงร่วงขนาดนี้ ซึ่งมันอาจจะเป็นสาเหตุของโรคผมร่วงต่าง ๆ ในหลายๆ โรค หรือหลายสาเหตุอื่น ๆ ด้วยกัน ที่พบนอกเหนือจากผมร่วงผมบางจากพันธุกรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะค่อย ๆ บางลง มีรูปแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
นพ.ก้องเกียรติ ลออวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกผม มีคำอธิบายถึงภาวะผมร่วงจากหลายสาเหตุดังนี้
1.โรคผมร่วงหย่อม (Alopecia Areata)
โรคผมร่วงหย่อม เป็นโรคที่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก พบรอยโรคได้ทุกที่ ที่มีเส้นผม แบบที่พบบ่อย คือเห็นรอยโรคที่หนังศีรษะหรือคิ้ว เป็นวงกลมหรือรี ขอบเขตชัด ผมที่ร่วงส่วนใหญ่งอกกลับคืนมาภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี แต่ส่วนใหญ่พบว่ามีโอกาสจะกลับมาเป็นอีกตรงที่เดิมในอนาคต ในบางคนถ้าเป็นมากอาการผมร่วงอาจลามไปทั่วศีรษะ (Alopecia Totalis) หรือทั่วทั้งตัว (Alopecia Universalis) ส่วนสาเหตุของโรคนี้ยังไม่แน่ชัด เชื่อกันว่าเกิดจากเรื่องของภูมิแพ้ และไม่เกี่ยวกับความเครียด วิตกกังวล ดังนั้นควรรีบมาพบแพทย์ ถ้าผมร่วงเป็นหย่อม แต่จำนวนไม่มาก 1-3 หย่อม แพทย์มักจะให้การรักษาด้วยยาทา หรือฉีดยาเฉพาะที่ที่หนังศีรษะ โดยโรคผมร่วงเป็นหย่อม แบบไม่กี่หย่อมนี้ ผู้ป่วยร้อยละ 30-50 สามารถหายได้เองภายใน 1 ปี แต่ถ้าผมร่วงเป็นหลายหย่อมหรือลามไปทั้งศีรษะควรมาพบแพทย์โดยด่วน ผมร่วงเป็นหย่อม ชนิดหลาย ๆ หย่อม ควรมาพบแพทย์โดยด่วน ส่วนการดูแลรักษา 50 เปอร์เซ็นต์ของคนไข้จะหายได้เอง การรักษาส่วนใหญ่ใช้สเตียรอยด์ในรูปทาหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ผลการรักษาจะดีถ้ามีอาการน้อยกว่า 1 ปี ถ้าเป็นนานกว่านั้นผลก็จะแย่ การใช้ยาทาไมนอกซิดิว (Minoxidil) สามารถช่วยรักษาได้ ฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น การผ่าตัดปลูกผม ไม่แนะนำให้ทำในกรณีที่รอยโรคยังไม่สงบ ต้องรออย่างน้อย 1 ปี ให้แน่ใจว่าผมไม่ขึ้นแล้ว
2.ผมร่วงแบบมีแผลเป็น Scarring Alopecia มีการทำลายรากผม อาจเกิดจากหลายสาเหตุ
2.1.ผมร่วงจากแผลเย็บ ผ่าตัด อุบัติเหตุ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก สารเคมี กรด ด่าง ทำให้เกิดการทำลายรากผมเกิดเป็นแผลเป็นถาวร ผมร่วงจากการผ่าตัดควรรอให้แผลหายดีอย่างน้อย 6 เดือน เพราะบางทีผมจะสามารถงอกกลับมาได้บางส่วน การรักษาจะพิจารณาตกแต่งแผลให้เล็กลงหรือปลูกผมลงบนแผลเป็น
2.2 ผมร่วงจากการดึงรั้ง Traction Alopecia เกิดจากการดึงรั้งของเส้นผมนาน ๆ พบได้บ่อยในคนที่ถักผม มัดจุก ไว้หางม้า ผูกเปีย ผมร่วงมักเป็นตามแนวไรผมด้านหน้า ขมับ คนที่ใส่วิกผมโดยใช้วิธีผูกยึดหรือติดกิ๊บไว้ ผมบริเวณนั้นจะร่วงเป็นหย่อมจากแผลเป็น การรักษาใช้หลักการง่าย ๆ เพียงแค่หลีกเลี่ยงการดึงรั้งผมนาน ๆ กรณีมีผมร่วงถาวรแล้วต้องอาศัยการศัลยกรรมปลูกผม
2.3. ผมร่วงจากการถอนผม หรือ Trichotillomania หรือเป็นนิสัยหรือพฤติกรรมที่ย้ำคิดย้ำทำ โดยการถอนผมหรือขนตามตัว อาจถอนโดยไม่รู้ตัวขณะนั่งอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ เมื่อทำไปนานเข้าทำให้ผมบางเป็นวง ๆหรือเป็นหย่อม ๆ ถ้าทำนานมากอาจเกิดเป็นแผลเป็นได้ บางรายอาจพบว่ามีปัญหาทางจิตร่วมด้วย ดังนั้นวิธีการรักษาจะต้องอธิบายถึงสาเหตุและแนะนำให้คนไข้หยุดถอนผม ในบางรายที่มีปัญหาทางจิตมาก ๆ ควรปรึกษาจิตแพทย์
ตัวอย่าง ผมร่วงเป็นหย่อมหรือเป็นบริเวณชัดเจน แต่จะงอกกลับมาปกติ
2.4. โรค FFA Frontal Fibrosis Alopecia เป็นโรคที่เกิดการอักเสบที่หนังศีรษะ และทำลายรากผม จึงมีอาการผมร่วง หนังศีรษะแดง เป็นขุย และมักจะกลายเป็นโรคผมร่วงแบบมีแผลเป็น ลักษณะผื่นเป็นตุ่มนูนแดง และมีขุยบริเวณรอบโคนเส้นผม ส่วนใหญ่จะพบที่ตลอดแนวไรผมบริเวณ หน้าผาก จอนผม คิ้ว ไรผมจะถูกทำลาย คล้ายทรงแมนจู อาการของโรคอาจจะเป็น ลักษณะค่อยเป็นค่อยไป หรือเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันก็ ได้ ส่วนอาการร่วมอื่นที่พบบ่อย คือ อาการผมร่วง มากขึ้นและ คันที่หนังศีรษะ ไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แท้จริง รักษาโดยการฉีดยา กลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้าใต้ผิวหนัง- การรับประทานยากลุ่มฟีแนสเตอร์ไรด์/ ยาดูตาสเตอร์ไรด์- กลุ่มไฮดรอกซีคลอโรควิน
2.5. โรค LPP Lichen Planopilaris (LPP) เป็นโรคที่เกิดการอักเสบที่หนังศีรษะ และทำลายรากผม จึงมีอาการผมร่วงเป็นหย่อมหนังศีรษะแดงเป็นขุย มีรังแค เกิดบริเวณกลางกระหม่อม อาจมีหย่อมเล็ก ๆ กระจาย แล้วลามเป็นบริเวณกว้าง และมักจะกลายเป็นหย่อมผมร่วงถาวร เชื่อกันว่าเกิดจากเรื่องของภูมิคุ้มกันผิดปกติ โดยวิธีการรักษา เช่น 1.การฉีดยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroid) 2.การรับประทานยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroid), กลุ่มไฮดรอกซีคลอโรควิน (hydroxychloroquine),ยาเตตราไซคลิน (tetracycline), ยาดอกซีไซคลิน (doxycycline) และยาไพโอกลิทาโซน (pioglitazone)
3. โรคผมร่วงทั่ว ๆ ผม ระยะเจริญร่วง (Anagen Effluvium) ผมร่วงชนิดนี้จะเกิดจากการสิ่งที่มากระทบ มีผลต่อการเจริญของรากผม มักมีอาการผมร่วงทั่วศีรษะ หลังรับประทานยา หรือได้รับสารเคมีบางอย่าง เช่น ยาเคมีบำบัด เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของผมร่วงแบบนี้ หากใช้ยาสองชนิดร่วมกัน จะทำให้ผมร่วงมากขึ้น ยาตัวอื่นที่ทำให้เกิดอาการได้ มักมีอาการผมร่วงทั่วศีรษะ หลังรับประทานยาหรือได้รับสารเคมีบางอย่าง ยาตัวอื่นที่ทำให้เกิดอาการได้ คือ bismuth, levodopa, colchicines และ cyclosporine ผมมักเริ่มร่วงหลังจากรับยาเคมีบำบัดไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ เห็นชัดหลัง 1-2 เดือน ส่วนการรักษาให้ทา 5% Minoxidil โลชั่น อาจไม่ช่วยป้องผมร่วง แต่ช่วยให้ระยะที่ผมร่วงสั้นลง 50 วัน โดยการรัดรอบศีรษะระหว่างที่ฉีดยาเคมีบำบัด อาจช่วยลดอาการผมร่วงได้ ทั้งนี้อาการผมร่วงสามารถหายกลับมาได้ปกติหลังหยุดให้ยาเคมีบำบัด 2-3 สัปดาห์ รากผมสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ บางคนผมก็ยาวต่อแม้จะให้ยาต่อเนื่อง
4. ผมร่วงทั่ว ๆ ผมระยะหยุดพักร่วง (Telogen Effluvium) ผมร่วงทั่วศีรษะส่วนใหญ่มักเป็นฉับพลัน ส่วนน้อยอาจมีอาการเรื้อรังและใช้เวลานานกว่า มีสาเหตุมาจากผิดปกติจากเรื่องเมตาบอลิก หรือฮอร์โมน หรือจากยาบางตัว ส่วนใหญ่หายได้เองใน 6 เดือน สำหรับอาการผมร่วงทั้งในแบบฉับพลันหรือเรื้อรัง จะมีผมหลุดร่วงมากขึ้น คนไข้มักบอกว่าผมร่วงมากขึ้น หรือผมที่มีอยู่บางลง ผมจะร่วงทั่วศีรษะ แต่ไม่พบที่ร่วงหมดศีรษะ หากมีอาการแสดงน้อยกว่า 6 เดือน (ระยะฉับพลัน) มักมีความผิดปกติจากเรื่องเมตาบอลิก หรือฮอร์โมน หรือจากยาบางตัวเกิดขึ้นก่อนผมร่วง1-6 เดือน สาเหตุได้แก่ การมีไข้สูง การติดเชื้อ การได้รับอุบัติเหตุหนัก ได้รับการผ่าตัด การอดอาหารลดน้ำหนัก การตั้งครรภ์ การทานยาบางตัวเช่น beta-blockers, anticoagulants, retinoids, propylthiouracil, carbamazepineการได้รับวัคซีน โรคสะเก็ดเงิน รังแคอักเสบ การหยุดยาฮอร์โมน เช่นยาคุมกำเนิด หรือ หากมีอาการแสดงมากกว่า 6 เดือน (ระยะเรื้อรัง) อาการเริ่มไม่ค่อยรู้ตัว ผมร่วงไปเรื่อย ๆ ผมดูบางลง สาเหตุ เช่น เป็นมะเร็ง โรคพุ่มพวง โรคไตระยะสุดท้าย โรคตับ โรคไทรอยด์เป็นพิษหรือทำงานต่ำ ขาดสารอาหารและโลหิตจาง
ภาวะผมร่วงเยอะ ๆ ส่งผลไปสู่ปัญหาหัวล้าน ผมบาง ได้ในอนาคต ผมร่วงจึงทำให้เราหมดความมั่นใจในการใช้ชีวิต และส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ ตามมา ดังนั้นเราจึงควรหมั่นใส่ใจดูแลร่างกายของเราให้ดีอยู่เสมอ เพื่อชะลอเวลาการเสื่อมโทรมของร่างกายให้อยู่สมบูรณ์กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้