สสส. – สมาคมเพศวิถีศึกษา จัดทำร่างยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่ม LGBTIQN+ ฉบับแรกไทย ลดเหลื่อมล้ำ ใช้ชีวิตเท่าเทียม
สสส. – สมาคมเพศวิถีศึกษา กางร่างยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่ม LGBTIQN+ ฉบับแรกของไทย ขจัดเลือกปฏิบัติ-ละเมิดสิทธิ-ตีตรา หวังสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ ขับเคลื่อนชุมชนปลอดภัย เป็นมิตรกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ คลินิก LGBT เผยส่วนใหญ่ปรึกษาซึมเศร้า ฮอร์โมนเพศ
เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่โรงแรมเมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในเสวนาและรับฟังความคิดเห็น “ยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่ม LGBTIQN+ ฉบับแรกของประเทศไทย” ว่า สสส. ระดมนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดทำร่างยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่ม LGBTIQN+ ปี2564-2566 เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมด้านสุขภาวะของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเข้มข้น ตั้งเป้าให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมีสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจที่ดีควบคู่กับการได้รับสิทธิในระบบบริการสาธารณสุขของรัฐ ลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ สร้างความตระหนักรู้ให้คนในสังคมเป็นพื้นที่ปลอดภัยกับคนกลุ่มนี้ได้มีชีวิตอย่างเท่าเทียม
ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งสถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐ และภาคประชาสังคม ดำเนินงานในด้านต่างๆ เช่น 1.โครงการเพศวิถีหลากหลายในความหมายของครอบครัว 2.โครงการขับเคลื่อนกฎหมายชีวิตคู่เพื่อสร้างความเท่าเทียมเรื่องการแต่งงานในสังคม 3.พัฒนาในเครื่องมือและกลไกการสนับสนุนสมาชิก ครอบครัว เพื่อน และคู่ชีวิต 4.ทบทวนสถานการณ์และเก็บข้อมูลความรอบรู้ด้านสุขภาพ พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ 5.พัฒนาแนวคำถามสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในแบบสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 6.คู่มือสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสถานการณ์โควิด-19
“ทุกวันนี้เราไม่ทราบจำนวนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่มีข้อมูลชัดเจนด้านสุขภาพ ยิ่งกว่านั้นพวกเขามักถูกเลือกปฏิบัติในสังคม ถูกบูลลี่ แต่หากมองในฐานะเพื่อนมนุษย์ พวกเขาควรได้รับสิทธิความเท่าเทียมในฐานะพลเมือง ซึ่งการเข้าถึงบริการต่างๆ ทั้งทางสังคมและสาธารณสุข มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ คือ หัวใจหลักที่ สสส. ต้องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่ม LGBTIQN+” นางภรณี กล่าว
ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความสำคัญของยุทธศาสตร์สุขภาวะ LGBTIQN คือการทำให้กลุ่มคนข้ามเพศมีสุขภาวะทางสุขภาพที่ดี สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ ปัญญา และการมีชีวิตอยู่ในสังคม เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงกันในองค์รวม หากทำให้เกิดความสมดุลในส่วนนี้ได้ ก็จะทำให้พวกเขาได้รับความเท่าเทียมในกระบวนการยุติธรรม เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ เหมือนคนทั่วไป โดยที่ไม่ถูกตีตราว่ามีความแตกต่าง
สำหรับยุทธศาสตร์สุขภาวะ LGBTIQN+มี 5 ข้อ คือ 1.การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2. การพัฒนาฐานข้อมูลและการบริหารจัดการองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะ LGBTIQN+ 3. การสร้างระบบบริการสุขภาวะที่เป็นธรรมและเข้าถึงด้านได้สำหรับ LGBTIQN+ 4. การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายและชุมชน LGBTIQN+ เพื่อการส่งเสริมสุขภาวะ 5.การพัฒนาศักยภาพเยาวชนด้านการเสริมสร้างสุขภาวะ LGBTIQN+
“ยุทธศาสตร์ LGBTIQN+ มีการทำครอบคลุมเรื่องการแก้ปัญหาสถานการณ์ความหลากหลายทางเพศ 5 ด้าน คือ 1.ปัญหาด้านการศึกษา ถูกกลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติ 2.ปัญหาเศรษฐกิจ ถูกละเมิดสิทธิไม่ได้รับโอกาสจ้างงาน 3.ปัญหากฎหมาย ไม่รับรองสถานะบุคคลข้ามเพศ 4.ปัญหาสื่อ ที่มีการผลิตซ้ำ สร้างภาพจำด้านลบ และที่สำคัญที่สุด 5.ปัญหาด้านสุขภาพ ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรได้เท่าเทียมกัน“ ดร.ชเนตี กล่าว
ด้านพญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า สังคมไทยต้องให้ความสำคัญกับคลินิก LGBT เพราะเป็นพื้นที่สร้างความสบายใจให้กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในทางการแพทย์พบว่า สิ่งที่ต้องดูแลคนกลุ่มนี้มี คือการทำให้เขายอมรับในเพศวิถีของตัวเอง สร้างความเข้าใจครอบครัวให้ยอมรับในตัวตน ส่วนสถานการณ์สุขภาพพบว่า ปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ถูกขอคำปรึกษามากที่สุด รองลงมาคือการขอความรู้และรับฮอร์โมนเพศ เพื่อความสุขในการใช้ชีวิตตามเพศวิถี และการปฏิบัติตัวอย่างไรให้ครอบครัวและสังคมรอบข้างยอมรับ โดยที่ไม่ถูกบูลลี่ และสุดท้ายคือเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์