นายกสมาคมอสังหาฯเปรียบวิกฤติโควิด-19 เหมือนมะเร็ง สกัดคนรายได้น้อย-ชั้นกลางมีบ้าน
บริษัท พร็อพทูมอร์โรว์ จำกัด สื่อด้านอสังหาริมทรัพย์และที่ปรึกษาด้านการตลาดสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จัดงานเสวนาใหญ่ประจำปี 2563 เรื่อง “กรุงเทพจตุรทิศ : อสังหาฯฝ่าคลื่นเศรษฐกิจ วิกฤตินี้ยาวแค่ไหน…? ในวันนี้ (23 ก.ย.63) ณ อาคารไทยซีซี (Thai CC Tower) กรุงเทพฯ โอกาสเข้าสู่ปีที่ 6 ของบริษัท โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย, นายเผด็จ เจริญศิวกรณ์ รองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) , นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) , คุณอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัทซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด และนายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บมจ.เอพี ไทยแลนด์ (AP) โดยมีนักธุรกิจแวดวงอสังหาริมทรัพย์และประชาชนให้ความสนใจเข้ารับฟังการเสวนาอย่างคับคั่ง
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องฝ่าวิกฤติโรคโควิด-19 ว่า วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 นับว่าโหดที่สุด เกิดขึ้นเร็วและแรง แต่วิกฤติโรคโควิด-19 เปรียบเสมือนมะเร็ง ที่เกิดขึ้นช้าๆ ที่น่ากลัวคือ เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ต่างชาติสาหัสกว่าไทย และจะเป็นอย่างไรต่อไป หมอดูยังไม่กล้าฟันธง
นายพรนริศมองว่า ผู้ประกอบการจะประสบปัญหาแบกรับภาระภาษีที่จะเกิดขึ้นจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาลง เนื่องจากราคาที่ดิน ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัญหาของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ แม้จะมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มา โดยรัฐบาลผ่อนผันให้เหลือ 90% แต่หากปี2563นี้และปีหน้ายังขายไม่ดี หรือขายไม่ได้ ภายใน 3 ปี จะมีภาระด้านภาษีตามมา เพราะมีของในมือเยอะและจะต้องจ่ายภาษีแพงตามราคาที่ดิน ราคาบ้านและคอนโดมิเนียมที่สูงขึ้นตลอด
ขณะเดียวกันยังมองว่า คนรายได้น้อย คนรายได้ชั้นกลาง โอกาสที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองเป็นไปได้ยาก เพราะผ่อนธนาคารไม่ได้ ไม่มีรายได้ รายได้ไม่โตตาม โดยหนุนภาครัฐมาช่วยทำที่อยู่อาศัยบนพื้นที่ของรัฐหรือเอกชนเพื่อให้เช่าเป็นระยะยาวได้ในราคาเช่าถูก
ทั้งนี้ได้เสนอแนะภาครัฐว่า ภาษีจัดสรรใหม่ๆขออย่าเพิ่งมี และขอให้มีการตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจจบในที่เดียว โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ นอกจากดูแลงานด้านสาธารณสุขแล้ว ขอให้ไปพูดคุยกับเอกชนทุกภาคส่วน เพื่อสร้างบ้านให้ผู้มีรายได้น้อยได้ให้เช่าในราคาถูก ไม่ใช่มุ่งสร้างเฉพาะบ้านข้าราชการ ขณะเดียวกันต้องเป็นการสนับสนุนชุมชนด้วย โดยสร้างในทำเลใกล้ที่ทำงาน ร้านค้า
ขอบคุณภาพประกอบจาก-www.prop2morrow.com/