สทน. สดร. สซ. หน่วยงานสังกัด อว.จับมือสร้างเครือข่ายด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ชั้นสูงต่อยอดผลงานวิศวกรรม พัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ชั้นสูง (Advanced Engineering) ครั้งที่ ๓ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมงาน ณ อาคารฉายรังสีอิเล็กตรอน สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เทคโนธานี จังหวัดปทุมธานี
ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธาน เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ชั้นสูง (Advanced Engineering) ครั้งที่ ๓ กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ชั้นสูง จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิศวกรรมระหว่างหน่วยงานด้าน Frontier Science Research จาก ๓ หน่วยงานสำคัญของ กระทรวง อว. คือ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
ทั้ง ๓ หน่วยงานถือเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพสูง ถึงแม้ทั้ง ๓ หน่วยงานจะมีพันธกิจที่แตกต่างกัน แต่ย่อมต้องมีความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมเป็นพื้นฐาน ดังนั้นการสร้างความร่วมมือของทั้ง ๓ หน่วยงานในครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมที่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างสูง เปรียบเสมือนเป็นปืนใหญ่ของกองทัพ เพราะจะเป็นการบูรณาการเทคโนโลยีที่แต่ละสถาบันมีความเชี่ยวชาญ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และด้านวิศวกรรมในแขนงต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาประเทศรวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นไปสู่ภาคการศึกษา และไปสู่ประชาชนในที่สุด นอกจากเรื่องของเทคโนโลยีที่จะพัฒนาแล้ว ประเด็นสำคัญที่จะได้จากความร่วมมืออีกครั้งนี้คือการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาหน่วยงานวิจัยภายในประเทศให้มีความสามารถทัดเทียมกับต่างประเทศได้ต่อไปในอนาคต
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมชั้นสูง หรือ Technical Meeting on Advanced Engineering จัดเป็นครั้งที่ ๓ ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เป็นเจ้าภาพ เป็น
การจัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรม โดยมี ๓ หน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แก่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ
ทางด้านการควบคุมขั้นสูง การสร้างอัลกอลิทึมในการติดตามวัตถุที่อยู่นอกโลก สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการสร้างสภาวะสุญญากาศสำหรับผ่านรังสีในท่อลำเลียงการเร่งอนุภาค รวมทั้งเทคโนโลยีระบบแม่เหล็กพลังสูง และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ มีความเชี่ยวชาญในการนำสารรังสีไปวิจัยเพื่อประยุกต์ใช้ทางด้านการแพทย์ การเกษตร และอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยทั้ง ๓ หน่วยงานได้เห็นพ้องต้องกันว่า ถึงแม้จะมีความเชี่ยวชาญที่ต่างกัน แต่องค์ความรู้ที่แตกต่างเหล่านี้หากร่วมมือกัน จะนำไปสู่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมจะเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
ความสำคัญของกิจกรรม คือ การที่วิศวกร นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ของ ๓ หน่วยงานได้มาพบปะกัน การศึกษาการทำงานของแต่ละหน่วยงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นพื้นฐานและขั้นสูง ตลอดจนการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านวิศวกรจากทั้ง ๓ หน่วยงานลักษณะนักวิทยาศาสตร์คิด วิศวกรเป็นคนสร้าง อันนำไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต
อนึ่งกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมชั้นสูงได้ดำเนินการไปแล้ว ๒ ครั้ง ครั้งแรก จัดที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ จ.เชียงใหม่ครั้งที่ ๒ จัดที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา และในครั้งที่ ๓ นี้ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ได้มีโอกาสเปิดศูนย์ปฏิบัติการทั้ง ๓ แห่ง ได้แก่ สทน. สำนักงานใหญ่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยและงานด้านวิศวกรรม ศูนย์ฉายรังสี เทคโนธานี จ.ปทุมธานีและ เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ซึ่งตั้งอยู่กรุงเทพมหานคร และหลังจากการประชุมทั้ ง ๓ ครั้งจบลง ทั้ง ๓ หน่วยงานจะร่วมมือกันพัฒนาผลงานด้านวิศวกรรมสำคัญขึ้น ๒ โครงการ ได้แก่ ๑. Scanning Electron Microscope และ ๒. Superconducting Magnet และการประชุมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้านอื่นๆ อีกต่อไป