เร่งการขับเคลื่อน “ลดเค็มทำได้” รวมพลัง “เครือข่ายลดบริโภคเค็ม” ในประเทศไทย
สสส.-สธ.-เครือข่ายลดบริโภคเค็ม รวมพลัง “ลดเค็มทำได้” ตั้งเป้าคนไทยกินเค็มลด 30% ภายในปี 2568 ม.มหิดล ย้ำชัดคนไทยติดเค็มทุกภาค เยอะสุดภาคใต้ กินเค็ม 4 กรัม/วัน พร้อมชวนคนไทยเข้า “คอร์สเปลี่ยนลิ้น 21 วัน” ด้าน WHO เชื่อหากรัฐหนุนไทยทำได้ เผยปัจจุบันเด็กไทยบริโภคเกลือมากเกินไป
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย จัดงานแถลงข่าว การขับเคลื่อน “ลดเค็มทำได้” ในประเทศไทย ประจำปี 2563 โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม เครือข่ายลดการบริโภคไขมัน เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เครือข่าย NCDs และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ โดยผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนจากปัจจัยเสี่ยงด้านการบริโภคอาหาร เสริมพลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติป้องกันและควบคุมโรค NCDs รวมทั้งสื่อสารให้ความรู้ประชาชนถึงโทษของการบริโภค “หวาน มัน เค็ม” เกินพอดี
นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประชาชนบริโภคเกลือและโซเดียมลดลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568คือ ยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ. 2559-2568 สถานการณ์การบริโภคโซเดียมที่ล้นเกินของประชาชนไทย ทำให้เร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย เพื่อลดโอกาสที่จะนำไปสู่การป่วย การเสียชีวิต และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการเพิ่มขึ้นของโรค NCDs ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือในการกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการและแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเพื่อสนับสนุนแผนบริการของกระทรวงสาธารณสุข ในการลดโรค NCDs รวมถึงโรคไตวายระยะสุดท้ายของประชาชนไทย
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังสูงถึง 7,600,000 คน เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 40,000 คนต่อปี หรือ 108 คนต่อวัน เป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาตกว่า 500,000 คน การจัดกิจกรรมครั้งนี้เครือข่ายฯ ร่วมกับ สสส. และบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร จำกัด จัดทำภาพยนตร์สั้น เพื่อรณรงค์ลดเค็ม ในเรื่อง “คำรักลิขิตสาป” นำแสดงโดยหนุ่ม-ศรราม เทพพิทักษ์ เต๋า-สโรชา วาทิตตพันธ์ และจอย-ชลธิชา นวมสุคนธ์ และ “คอร์สเปลี่ยนลิ้น 21 วัน (21 Days Sodium Lesstaurant”) มีร้านอาหารที่เข้าร่วม 21 ร้านและเปิดเมนูลดเค็มทำได้ง่าย ๆ พร้อมเปิดให้ประชาชนทั่วไปมาเลือกเมนูเพื่อปรับลิ้นลดเค็ม ที่ผ่านมาประเทศไทยมีมาตรการในการรณรงค์ให้คนไทยลดการบริโภคเค็ม อาทิ ฉลากโภชนาการ บอกค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม แต่ยังไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร เครือข่ายลดบริโภคเค็ม จึงร่วมกับ สสส. กระทรวงสาธารณสุข กรมสรรพสามิต ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเก็บภาษีความเค็มขึ้นในปี 2564
พญ.ดร.เรณู การ์ก เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ (โรคไม่ติดต่อ) สำนักงานผู้แทนองค์อนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การบริโภคโซเดียมมากเกินไปเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะโซเดียมเป็นสาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบตัน และไตวาย รวมทั้งโรคเรื้อรังชนิดอื่น โรคเหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งภาวะทุพพลภาพ การสูญเสียทางเศรษฐกิจ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำว่าทุกคนควรจำกัดปริมาณการบริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มก. อย่างไรก็ตาม มีผลงานวิจัยมากมายในประเทศไทยที่บ่งชี้ว่า ปริมาณโซเดียมที่คนไทยบริโภคสูงกว่าเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลกถึงสองเท่า ล่าสุด ผลการสำรวจล่าสุดระบุว่าปริมาณการบริโภคโซเดียมอยู่ที่ 3.6 กรัม และสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากคือ เด็กไทยบริโภคเกลือมากเกินไป โดยเฉลี่ย เด็กไทยบริโภคโซเดียมมากถึง 3,194 มก. ต่อวัน ซึ่งเป็นระดับการบริโภคที่สูงเกินกว่าเกณฑ์แนะนำสำหรับกลุ่มเด็กมาก ยิ่งกว่านั้น ปริมาณโซเดียมที่เด็กไทยบริโภคถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลก ซึ่งทำให้เยาวชนตกอยู่ในความเสี่ยงที่อาจจะมีภาวะความดันโลหิตสูง และโรคไตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้น เราต้องเร่งดำเนินมาตรการเพื่อลดการบริโภคโซเดียมทั้งในผู้ใหญ่ และเด็ก
เจ้าหน้าที่ WHO แนะนำต่อว่า ให้บริโภคโซเดียมไม่ควรเกิน 1 ช้อนชา หรือคิดเป็นปริมาณโซเดียม 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ปัจจุบันคนไทยบริโภคเกินกว่า 2 เท่า หากรัฐบาลผลักดันนโยบายเก็บภาษีผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโซเดียมสูงเกินมาตรฐาน โดยเก็บภาษีผลิตภัณฑ์บรรจุหีบห่อ และผลักดันให้ผู้ผลิตอาหารปรับรูปแบบอาหารบรรจุหีบห่อให้มีโซเดียมน้อยลง จะช่วยปกป้องสุขภาพของประชาชน และลดความเสี่ยง NCDs จากการบริโภคโซเดียมมากเกินความพอดีได้สำเร็จ
ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการสำรวจปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมในประชาชนทั่วประเทศ พบว่า ประชากรไทย 2,388 อายุเฉลี่ย 43 ปี เป็นเพศหญิงร้อยละ 53 และมีภาวะความดันโลหิตสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 30 โดยค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา โดยปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยเยอะที่สุดในภาคใต้ 4,108 มก./วัน, รองลงมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,316 มก./วัน, กรุงเทพมหานคร 3,496 มก./วัน, ภาคเหนือ 3,563 มก./วัน และภาคกลาง 3,760 มก./วัน ตามลำดับ ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดคลิปวิโอสั้นเรื่อง “คำรักลิขิตสาป” และเข้าร่วม “คอร์สเปลี่ยนลิ้น 21 วัน (21 Days Sodium Lesstaurant”) ได้ที่เว็บไซต์ www.lowsaltthai.com