สสส. ชวนฝ่าวิกฤตฝุ่น PM2.5 ดึงนักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง 7 ด้าน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง หาทางออกให้ประเทศ
สสส. ชวนฝ่าวิกฤตฝุ่น PM2.5 ดึงนักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง 7 ด้าน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง หาทางออกให้ประเทศ สร้างความตระหนักภัยคุกคามสุขภาพ ลดมลพิษทางอากาศ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการพลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) และผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Prime Mover) ในบริบทการจัดการคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย”
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า มลพิษทางอากาศ รวมทั้งฝุ่นพิษ PM2.5 มีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น การนำเสนอข้อมูลสู่ประชาชนจึงควรมีความชัดเจน ตรงเป้า คลอบคลุมประเด็นที่มีความหลากหลายเพื่อให้เกิดการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ สสส. คัดสรรผู้นำที่มีความสามารถเชิงวิชาการและอัตลักษณ์เฉพาะตัว ทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ 1.พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม 2.พัฒนาสุขภาพอาเซียน 3.นิติศาสตร์ 4.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 5.การลงทุน 6.วิศวกรรมศาสตร์ และ 7.วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
รวมถึงมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ทั้ง 13 ชาติพันธุ์ ครอบคลุมปัญหามลพิษทางอากาศทั่วประเทศ ในการนำองค์ความรู้ความสามารถมาใช้คิด พัฒนา และส่งเสริมให้มีการสื่อสารจนเกิดการตระหนักถึงภัยร้ายของมลพิษทางอากาศ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม แก้ไขปัญหาวิกฤตของชาติอย่างยั่งยืน
“สสส.เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศโดยใช้ Prime Mover เป็นเครื่องมือที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในงานสร้างเสริมสุขภาพในประเด็นอื่นๆ ผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนสังคม ถือว่าเป็นมิติใหม่สำหรับประเทศไทยในการที่มีกลุ่มนักวิชาการสหสาขาวิชาที่อุทิศตนอย่างมุ่งมั่น เกาะติดในประเด็น และที่สำคัญคือ มีความถนัดเฉพาะทางที่แตกต่างกันแต่มีจุดร่วมกันคือการหาทางออกให้กับชาติบ้านเมืองในการฝ่าวิกฤตฝุ่นควันซึ่งเป็นภัยคุกคามที่บั่นทอนสุขภาพของประชาชนและส่งผลกระทบเชิงลบต่อทั้งภาพลักษณ์และบรรยากาศในการลงทุนภายในประเทศ” นายชาติวุฒิ กล่าว
ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า Prime Mover สามารถช่วยรัฐบาลในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศได้ โดยเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการจัดการภาครัฐ (Public Sector Managerial Change) โดย Prime Mover 1 คนจะมีทีมลงพื้นที่จากกลุ่มพลเมืองสร้างสรรค์ที่สนใจแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอีก 5 คน และจะเพิ่มสมาชิกกลุ่มพลเมืองสร้างสรรค์ให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ ยกตัวอย่าง ในประเทศอินเดียประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างหนักในช่วงปี พ.ศ. 2483-2513 รัฐบาลอินเดียภายใต้การเป็นผู้นำของนางอินทิรา คานธี ได้เริ่มการปฏิวัติเกษตรกรรม (Green Revolution) ส่งผลให้ประเทศอินเดียสามารถผลิตอาหารเลี้ยงพลเมืองได้ ที่สำคัญคือ ปัจจุบันสามารถผลิตข้าวเพื่อบริโภคมากกว่า 1,200 ล้านคน และส่งออกจำหน่ายสู่ตลาดต่างประเทศอีกด้วย ความสำเร็จนี้ล้วนมาจาก Prime Mover ที่มีความรู้ความเข้าใจในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละพื้นที่
สำหรับการแถลงข่าวในวันนี้เป็นการรวมตัวของนักวิชาการทั้งหมด 7 คน ได้แก่ 1.ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 2.รศ.ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย 3.ผศ.ดร.กฤษฎากร ว่องวุฒิกุล คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 4.ผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 5.ผศ.ดร.รณบรรจบ อภิรติกุล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา 6.ผศ.ดร.รุจิกาญจน์ นาสนิท คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และ 7.ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์จำกัด