ก.แรงงาน-กมธ.แรงงาน ตั้งวงถกคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน-เกษตร สสส.-ภาคีเครือข่าย ชู ขับเคลื่อนนโยบายสุขภาวะแรงงานข้ามชาติ-นอกระบบ ชงแก้กฎหมายให้แรงงานทุกกลุ่มเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ
ก.แรงงาน-กมธ.แรงงาน ตั้งวงถกคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน-เกษตร สสส.-ภาคีเครือข่าย ชู ขับเคลื่อนนโยบายสุขภาวะแรงงานข้ามชาติ-นอกระบบ ชงแก้กฎหมายให้สิทธิแรงงานทุกกลุ่มเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ พัฒนา “หลักสูตรอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว” หลังพบเกินครึ่งไม่มีความรู้ดูแลสุขภาพ ไม่เข้าใจสิทธิสวัสดิการ และเข้าไม่ถึงการรักษา
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 ทีโรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย จัดเสวนา “การคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านและแรงงานในภาคเกษตร” โดยมีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน และนายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำไปพิจารณาปรับใช้สู่กลไกระดับชาติ ภายใต้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน
นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน กล่าวว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติปัจจุบันยังดูแลไม่ทั่วถึงทุกอาชีพ ยังพบความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมเรื่องการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงาน และสิทธิการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ สิ่งเหล่านี้สะท้อนปัญหาทางสุขภาวะชัดเจน ทำให้ขณะนี้อยู่ระหว่างปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านแรงงานพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานนอกระบบ มาดูแลแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ประมาณ 22 ล้านคนให้เหมือนลูกจ้างในระบบ
นายสุทธิ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมีกลไกขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองมาตลอด โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มคนทำงานบ้านและภาคเกษตรกรรม ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบ มีแนวโน้มว่าอาจจะตั้งสำนักงานดูแลเฉพาะ เช่น สภาแรงงานนอกระบบ กองทุนแรงงานนอกระบบ เพื่อเป็นตัวช่วยทำให้พวกเขาได้เข้าถึงระบบบริการของรัฐทั่วถึง ซึ่งจะเกิดผลสำเร็จได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ เอกชน นายจ้าง ลูกจ้าง และองค์กรภาคประชาสังคมด้านแรงงาน เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่จับต้องได้
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.กล่าวว่าแรงงานข้ามชาติที่ประกอบอาชีพในเมืองไทยมีความรู้ด้านการดูแลสุขภาพน้อย ยกตัวอย่างการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแรงงานชาวเมียนมาร์4 จังหวัด ได้แก่ ระนอง สมุทรสาคร ชลบุรี และหนองคาย จำนวน 850 คน ของ สสส.กับมหาวิทยาลัยมหิดล พบแรงงานร้อยละ 61.88 ไม่มีความรู้ด้านสุขภาพ มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ส่งผลกระทบกับร่างกาย ไม่เข้าใจสิทธิสวัสดิการที่ควรจะได้รับ และบางคนยังเข้าไม่ถึงการรักษาในโรงพยาบาล จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเครื่องมือสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพที่ใช้ชื่อว่า “หลักสูตรอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว” หรือ อสต. ในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพิ่มศักยภาพในการส่งผ่านข้อมูลถึงแรงงานข้ามชาติในพื้นที่นำร่อง 13 จังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ควบคู่กับการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติกลุ่มจ้างงานชั่วคราวและตามฤดูกาล
“กฎหมายด้านแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังคุ้มครองแรงงานข้ามชาติไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพและไม่เพียงพอ เพราะยังมีการกำหนดนิยามที่เกี่ยวข้องในลักษณะแคบ จนทำให้แรงงานที่ควรต้องได้รับการคุ้มครองตกหล่นไปจากระบบ เช่น แรงงานภาคเกษตร ทำงานบ้าน และเมื่อแรงงานถูกทำให้มองไม่เห็นในระบบการจ้างงาน จึงส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำและส่งผลกระทบต่อสภาวการณ์ด้านสุขภาพที่แรงงานต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นด้วยตนเอง” นางภรณี กล่าว
นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงานกล่าวว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานปัจจุบันยังมีช่องโหว่เรื่องการดูแลลูกจ้างชาวไทยและแรงงานข้ามชาติบางอาชีพ ที่เห็นชัดที่สุดคือแรงงานกลุ่มเกษตรกรรมและทำงานบ้าน จึงเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 14 ปี 2555 เพิ่มสิทธิ สวัสดิการดูแลแรงงานกลุ่มนี้ให้เท่าเทียมกับคนที่ทำอาชีพอื่น เพราะหากรอกฎหมายฉบับใหม่อาจจะใช้ระยะเวลานานเกินไป อาจกระทบต่อสุขภาวะของคนที่หาเช้ากินค่ำ และการปรับปรุงกฎกระทรวงช่วยเหลือแรงงานจะต้องมองลึกไปถึงอาชีพอื่น ๆ และแรงงานทุกชาติ ไม่ใช่แค่ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา โดยที่ไม่เลือกปฏิบัติ