เปิดใจพ่อนักสู้ ดูแลลูกพิการเหยื่อดื่มแล้วขับ ซ้ำตัวเองยังป่วย
เปิดใจพ่อนักสู้ ดูแลลูกพิการเหยื่อดื่มแล้วขับ ซ้ำตัวเองยังป่วย ขณะที่หัวอกลูก ดูแลพ่อป่วยมะเร็งลำคอระยะ 4 เผชิญมรสุมชีวิตครอบครัวแทบล้มละลาย อุทธาหรณ์เตือนใจให้ใช้ชีวิตห่างไกลปัจจัยเสี่ยงเหล้าบุหรี่และอุบัติเหตุ
เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาติ ปี 2563 พร้อมเสวนาหัวข้อ “เมื่อพ่อต่อสู้กับโรค-ภัย เพื่อชีวิตใหม่ของครอบครัว” ซึ่งเป็นเวทีถ่ายทอดประสบการณ์ การต่อสู้และก้าวผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายของคนเป็นพ่อและลูก เพื่อเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจให้ใช้ชีวิตห่างไกลปัจจัยเสี่ยงเหล้าบุหรี่ และอุบัติเหตุ และเป็นพลังใจให้ครอบครัวที่ต้องต่อสู้ เพื่อชีวิตใหม่
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยสี่ยงทางสังคม สสส.กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กเยาวชนหน้าใหม่ที่เข้าไปสู่สิ่งยั่วยุเหล้าบุหรี่ ตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้เกิดโรคต่างๆตามมาเมื่ออายุมากขึ้น หรือแม้กระทั่งเป็นผู้กระทำให้ผู้อื่นต้องได้รับการบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับ ในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตสูงสุด เฉลี่ยปีละ3,527คน และปัจจุบัน ปี2562 พบว่ามีเด็กและเยาวชน ในกลุ่มอายุน้อยกว่า 20 ปี ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์สูงสุด จำนวน 1,900 คน ปัจจัยเสี่ยงเรื่องการสูบบุหรี่ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-4 เท่า และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดถึง 25 เท่า ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากตัวผู้สูบ นอกจากนี้ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองประมาณ 1.2 ล้านคน จะเห็นได้ว่าคนใกล้ตัวก็ยังได้รับควันบุหรี่มือสอง และควันบุหรี่มือสามที่ตกค้างตามสภาพแวดล้อมในบ้าน ส่งผลเสียต่อสุขภาพเทียบเท่ากับการเป็นผู้สูบบุหรี่เอง แม้จะไม่ได้เป็นผู้สูบบุหรี่ก็ตาม
“หากมีคนในครอบครัวดื่มเหล้าผลที่เกิดขึ้นกับสุขภาพ อาจเกิดโรคเกี่ยวกับ สมอง ตับ หัวใจ และนอกจากนี้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อในปอด 2.9 เท่า ผลกระทบและสิ่งที่ตามมาไม่ว่าจะเป็นค่ารักษา เวลาที่ต้องดูแล จึงตกไปอยู่ที่ครอบครัวที่ต้องแบกรับภาระหน้าที่ การนำเสนอเรื่องราวผ่านครอบครัวที่มีประสบการณ์ทั้ง 3 ครอบครัวในเวทีเสวานาฯ
วันนี้ จะทำให้เห็นว่า กว่าที่จะมาถึงวันนี้พวกเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง และผ่านมันมาได้ จึงอยากฝากทุกท่านหากใครที่ยังสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ขับรถด้วยความเร็ว ประมาท หากท่านรักคุณพ่อคุณแม่ ก็ต้องดูแลสุขภาพและใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย ที่สำคัญสำหรับท่านใด เป็นคุณพ่อเป็นหัวหน้าครอบครัวอยากชวนมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นตัวอย่างให้แก่ลูกของท่าน ถือโอกาสในวันพ่อแห่งชาติปีนี้ได้เริ่มต้นทำสิ่งดีๆให้กับตนเองและครอบครัว” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นายธนเดช ใจสบาย ลูกชายที่ดูแลพ่อป่วยมะเร็งลำคอ กล่าวว่า ตอนนี้ตนทำทุกทางเพื่อให้พ่อในวัย49 ปี หายจากมะเร็งร้ายที่รุมเร้า คือพ่อดื่มเหล้าสูบบุหรี่มาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ โดยเก็บก้นบุหรี่ที่คนทิ้งแล้วเอามาดูด กระทั่งป่วยเข้ารับการรักษาเมื่อปี 2560 หมอบอกว่าเป็นมะเร็งลำคอ ระยะที่ 4 สาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ตอนนี้รักษาโรคร้ายมานานกว่า 2 ปี ด้วยการฉายแสงและทำคีโม จนก้อนที่คอมันหายไป แต่หมอยังให้พ่อใส่ท่อหายใจด้วยการเจาะคอ และทุก 3 เดือนพ่อต้องเดินทางจานครศรีธรรมราช เพื่อมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ
“บุหรี่มันเป็นสิ่งที่อันตราย และเวลาเกิดโรคร้ายขึ้นมา มันไม่ได้มีแค่คนสูบที่ได้รับผลกระทบ แต่มันจะกระทบถึงคนในครอบครัว เช่น ผมต้องสละสิทธิงานที่ผมสอบติดนิติกร กรมควบคุมโรค เพื่อมาดูแลรักษาพ่อ กระทบทุกคนในครอบครัว ต้องขึ้นมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ช่วงนั้นมันเป็นมรสุมชีวิตที่ยากลำบาก ครอบครัวเรียกว่าล้มละลายเพราะไม่มีรายได้เข้ามา เงินที่เก็บไว้เอาออกมาใช้จนหมด แม้จะใช้สิทธิบัตรทองซึ่งก็ช่วยได้มาก ประกอบกับการเข้ารักษาในโครงการวิจัยของโรงพยาบาลรามาร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ก็ลดค่าใช้จ่ายได้จำนวนมาก แต่ก็ยังไม่พอค่าใช้จ่าย
ส่วนต่างที่ยังต้องหมดไปอีกหลายแสนบาท ถ้าไม่มีสองส่วนที่บอกเข้ามาช่วยคิดว่าคงล้มละลาย และที่สำคัญส่วนตัวพ่อเองก็ทรมานกับโรคนี้ พ่อยอมทำสิ่งที่ติดมาตลอดทั้งชีวิต แล้วยอมเลิกเพื่อรักษาตัวเอง ทั้งนี้อยากบอกพ่อว่าผมรู้สึกดีใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกพ่อ และได้ทำหน้าที่ลูกดูแลพ่อ จนเกือบจะหายมาเป็นปกติ และขอฝากไปถึงลูกๆให้เตือนคุณพ่อที่ยังเป็นนักดื่มนักสูบ วันพ่อปีนี้ให้เลิกเหล้าเลิกบุหรี่เถอะเพื่อตัวเองเพื่อลูก” นายธนเดช กล่าว
นายคุณากร กนิษฐายน อายุ55ปี พ่อที่ต้องดูแลลูกพิการจากอุบัติเหตุ กล่าวว่า ลูกชายเกิดอุบัติเหตุซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เพื่อนเมาแล้วขับ เสียหลักพุ่งชนฟุตบาท ทำให้กลายเป็นคนพิการ นั่งวีลแชร์ตลอดชีวิต ส่วนตัวเองก็ป่วยเส้นเลือดในสมองตีบ เคยเป็นอัมพาต และผ่าตัดกระเพาะทะลุ ตอนนี้รักษาทั้งลูกและตัวเอง ผลัดกันดูแลกันสองคนพ่อลูก กว่าจะผ่านช่วงนั้นมาได้ก็ยาก แต่เพราะหน้าที่พ่อ ต้องสู้เพื่อลูก อยู่เพื่อลูก ถ้าเราไม่อยู่ใครจะดูแลลูก หากย้อนเวลากลับไปได้จะไม่ดื่มเหล้าไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ เพราะมันทำลายชีวิตเราและคนที่เรารัก ครอบครัวเราได้บทเรียนชีวิตที่หนักมาก สุขภาพไม่ใช่เรื่องเล่นๆหรือให้ความสำคัญในลำดับท้ายๆ เพราะเวลาที่เราแย่มันสุดๆจริงๆ
นายทวี เกษตรวนา อายุ 58 ปี อดีตคุณพ่อนักดื่ม กล่าวว่า เคยหลงผิดไปกับการดื่มเหล้า ช่วงอายุ30ปี ดื่มหนักจนติด เป็นขาเมาประจำชุมชน มีแต่คนรังเกียจ เบื่อหน่ายไม่อยากคุยด้วย เมาทั้งวัน รับเงินรับงานแล้วเบี้ยว เคยเกิดอุบัติเหตุเมาแล้วขับ และชีวิตครอบครัวเกือบพัง เสียเงินไปกับค่าเหล้าเป็นแสนๆ สาเหตุที่เลิกดื่มได้เพราะสุขภาพแย่ลง มีอาการมือสั่น ทำงานไม่ได้
และที่สำคัญที่สุด เพราะลูกหลานและครอบครัวที่เป็นแรงใจให้เราอยากเลิกเหล้า อยากมีชีวิตอยู่กับเขาไปนานๆ และสัญญาว่าจะเป็นพ่อที่ดี ไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขอีก ทุกวันนี้คนในชุมชนก็ยอมรับและให้โอกาสเราให้กำลังใจเรา ครอบครัวก็มีความสุข
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จะเห็นว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยกระตุ้นสร้างความเจ็บปวดเสียใจให้พ่อและลูกคือบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสิ่งนี้ก็กลายเป็นสิ่งที่พ่อต้องก้าวข้าม เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง และในวันพ่อปีนี้อยากให้พ่อทุกคนที่ดื่มที่สูบอยู่ ใช้โอกาสนี้ลดละเลิก ยิ่งในยุคโควิด-19ยิ่งต้องดูแลสุขภาพตัวเอง อย่าให้สายเกินไป เพราะของขวัญที่ดีที่สุดของคนเป็นพ่อก็คือลูกและครอบครัว