สกสว. – ภาคีวิจัย เร่งออกแบบแผนวิจัย Quick Win หนุนไทยศูนย์กลาง ‘สุวรรณภูมิศึกษา’ ของภูมิภาค
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการ “ประชุมหารือจัดทำแผนงานสุวรรณภูมิศึกษา” โดยมีนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะพัฒนาแผนวิจัย
รศ.ดร.ณัฐมา พงศ์ไพโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สกสว. ด้านวิเทศสัมพันธ์ กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจาก การประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2563 ที่ มีความเห็นให้ สกสว.และ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ส่งเสริมงานวิจัยเรื่อง “สุวรรณภูมิ – ทวารวดี – ศรีวิชัย” ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. โดยให้ สกสว. บรรจุประเด็นเพิ่มเติมในแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2564 และจัดงบประมาณสนับสนุน นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังมีแผนงานตั้งศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ศูนย์ภายใต้วิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Social Sciences Humanities and Arts หรือ TASSHA)
โดยแผนวิจัยที่ออกแบบนั้นเน้นการศึกษาเชิงสหวิทยาการ ไม่จำกัดเฉพาะสาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ เท่านั้น จะมีการบูรณาการข้ามศาสตร์ร่วมกับศาสตร์อื่นๆ และไม่ผลิตซ้ำงานเรื่องชาตินิยมซึ่งอาจเป็นประเด็นจุดชนวนนำมาสู่ความขัดแย้งอย่างการพยายามหาคำตอบว่า “สุวรรณภูมิ” ตั้งอยู่ในดินแดนของประเทศใด แต่มุ่งเน้นสร้างความร่วมมือระหว่างไทยกับภายในและระหว่างภูมิภาค และสร้างเครือข่ายทางวิชาการทางด้านสุวรรณภูมิศึกษา ที่มุ่งให้เกิดผลกระทบ (Impact) เพื่อรวบรวมชุดความรู้ด้านสุวรรณภูมิ ยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านสุวรรณภูมิที่สำคัญของภูมิภาคและโลกเกิดแผนปฏิบัติการเร่งรัด (Quick win) งานวิจัยด้านสุวรรณภูมิ และงานวิจัยด้านนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนสร้างนวัตกรรมเชิงวัฒนธรรมที่สามารถต่อยอดให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดย ศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ นักวิจัยจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอรายงานเบื้องต้น (Inception Report) เรื่องสุวรรณภูมิศึกษา ให้ที่ประชุมได้รับทราบ ด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ในเรื่องของสุวรรณภูมิศึกษา อาจมีคำถามเชิงลึกหลายคำถามที่รอการค้นหาคำตอบ การออกแบบวิจัยครั้งนี้ จะทำให้ได้ความรู้เชิงลึกในพื้นที่จริงว่าประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร ส่งผลต่อปัจจุบันอย่างไร ประเทศไทยต้องการนักวิจัยด้านนี้ หลังจากนี้จะมีการออกแบบการทำงานร่วมกันระหว่าง สกสว. TASSHA หน่วยบริหารจัดการทุน (พีเอ็มยู) นักวิชาการ ตลอดจนการเชื่อมต่อกับผู้ใช้ประโยชน์ โดยขั้นตอนหลังจากที่แผนนี้สำเร็จ ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะประกาศโจทย์วิจัยต่อไป