บจธ.เดินหน้าช่วยเกษตรกรต่อเนื่อง คาดดันพ.ร.บ.ธนาคารที่ดินเข้าครม.มิ.ย.64
บจธ.พาคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมพื้นที่โครงการบจธ.ที่จ.เชียงราย พร้อมเปิดผลงาน5ปีระหว่าง ปี59-63 ช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีที่ดินทำกิน ยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ไปมากกว่า 4,000 ราย พื้นที่กว่า5,000 ไร่ พร้อมริเริ่มตลาดกลางที่ดินจับคู่เจ้าของที่ดินและเกษตรกรเข้าใช้ประโยชน์เช่าที่ทำกินและเร่งเดินหน้าร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน
นายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนายการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ต้อนรับคณะสื่อมวลชนที่ลงพื้นที่จ.เชียงรายและร่วมงาน “มอบสิทธิในที่ดิน : ของขวัญปีใหม่จากใจ บจธ” วันที่ 22-23 ธันวาคม 2563 โรงแรมเฮอริเทจ พร้อมแถลงผลงานของบจธ.ว่า ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ.2559 – 2563) บจธ. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้เกษตรกรไปทั้งหมด 4,134 ราย จำนวนเนื้อที่ประมาณ 5,090 ไร่ โดยผ่านการดำเนินงานของ บจธ. ใน 4 โครงการตามมติ ครม. คือ
1. โครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน เป็นการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร ที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ให้มีที่ดินทำกินและได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน โดยกลุ่มต้องจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มสหกรณ์ และมองหาที่ดินที่ต้องการใช้ประโยชน์ในรูปแบบกรรมสิทธิ์แบบแปลงรวม บจธ. จะเป็นผู้เจรจาร่วมกับกลุ่มสมาชิกจัดซื้อที่ดินเพื่อนำมาให้ เช่า หรือเช่าซื้อระยะยาวไม่เกิน 30 ปี ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง3% สนับสนุนการจัดทำผังแปลงที่ดินตามหลักภูมิสถาปัตย์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงสินเชื่อเพื่อพัฒนาที่ดิน และที่อยู่อาศัย ปัจจุบัน บจธ. ได้ให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนไปแล้ว 9 กลุ่ม ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดจันทบุรี จังหวัดลำพูน และจังหวัดนครราชสีมา เกษตรกรจำนวน จำนวน 480 ครัวเรือน จำนวนที่ดิน 1,744 – 1 – 63 ไร่
2. โครงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน บจธ. ได้ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจะสูญเสียสิทธิในที่ดิน หรือสูญเสียสิทธิไปแล้ว โดยการสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรเพื่อนำไปไถ่ถอนที่ดินจากสถาบันการเงินและเจ้าหนี้นอกระบบ จากการจำนอง ขายฝาก และชำระหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อคงสิทธิในที่ดิน รวมไปถึงจัดซื้อที่ดินของลูกหนี้ที่ถูกขายทอดตลาด หรือหลุดขายฝากไปแล้ว ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อคงสิทธิให้เกษตรกรและผู้ยากจนได้กลับมามีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในที่ดินของตนเองต่อไป และให้สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมแก่เกษตรกรเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ ตลอดระยะเวลา 5 ปี บจธ. ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว 387 ราย สามารถป้องกันและคงสิทธิในที่ดินได้ถึง 2,476-0-33.7 ไร่
3. โครงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ยากจน ที่ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และทางหลวงสายพิเศษ บางปะอิน–นครราชสีมา เป็นต้น บจธ. จะสนับสนุนสินเชื่อสำหรับจัดซื้อที่ดินให้เกษตรกร ผู้ยากจนมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ในรูปแบบแปลงรวมถือกรรมสิทธิ์ร่วม และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ในการทำเกษตรกรรม เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคง ปัจจุบันมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนไปแล้ว 2 กลุ่ม พื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา มีเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือ 53 ครัวเรือน รวมเนื้อที่ทั้งหมด 103-2-51.3 ไร่
4. โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน (ดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน) บจธ. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพในพื้นที่เป้าหมายให้มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัยตามรูปแบบที่ บจธ. กำหนด ซึ่ง บจธ. ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน จำนวน 500 ครัวเรือน โดยได้จัดซื้อที่ดินตามแผนโครงการดังกล่าว เป็นจำนวนที่ดิน 742 – 0 – 56.2 ไร่
5.นอกจากนี้บจธ.ยังมีโครงการตลาดกลางที่ดิน เพื่อช่วยเหลือผู้มีฐานะดี มีที่ดิน แต่ต้องการนำใช้ประโยชน์หลังจากภาษีที่ดินมีผลบังคับใช้แล้ว โดยบจธ.มีแอปพลิเคชันที่จะช่วยจับคู่ระหว่างเกษตรกรผู้ต้องการใช้ที่ดินและเจ้าของที่ดิน ให้มาเจอกันเพื่อตกลงเช่าที่ดิน ถือเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งปัจจุบันสามารถจับคู่ได้แล้ว1 คู่ ที่จ.นครนายก
6.การผลักดันร่างกฎหมายในการจัดตั้งธนาคารที่ดิน หรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ลักษณะทำนองเดียวกันกับธนาคารที่ดิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและรัฐบาล เป็นองค์กรที่ช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน ให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง แก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดิน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านที่ดิน จะเป็นประโยชน์สำหรับเกษตรกรที่ยากจนทุกกลุ่มทั่วประเทศไทยรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ โดยอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น 7 พื้นที่ ใน 4 ภาค ทั่วประเทศ คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2564
นายกุลพัชรได้กล่าวในตอนท้ายว่า “บจธ.จะเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่องและบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงาน ซึ่งในปัจจุบันยังมีเกษตรกรขอความช่วยเหลือมาประมาณ5,000 คน พื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ โดยในปีงบประมาณ 2564 จะเสนอของบประมาณจากรัฐบาลเป็นมูลค่า 1,300 ล้านบาทเพื่อดำเนินการ”
หลังจากนั้นคณะสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการวิสาหกิจชุมชนเชียงรายอุ่นไอรักษ์ ต.ริมกก และวิสาหกิจชุมชนศาสตร์พระราชา ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย ร่วมฟังบรรยายสรุปจากผู้แทนรัฐวิสาหกิจชุมชน