นักวิชาการจับตาประชุมครม. ชง CPTPP ให้นายกฯ เห็นชอบ หวั่นไทยถูกบรรษัทข้ามชาติแทรกแซงนโยบายคุ้มครองสุขภาพคนไทย
นักวิชาการจับตาประชุมครม. 22ธ.ค. ชง CPTPP ให้นายกฯ เห็นชอบ หวั่นไทยถูกบรรษัทข้ามชาติแทรกแซงนโยบายคุ้มครองสุขภาพคนไทย
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีจะมีการพิจารณาเรื่องการเข้าร่วมเจรจาในความตกลงการค้า CPTPP ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (22 ธันวาคม 2563) ว่า การที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีตาม ‘ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก’ หรือ CPTPP อาจทำให้ประเทศไทยถูกบรรษัทบุหรี่ข้ามชาติแทรกแซงนโยบายและกฎหมายคุ้มครองสุขภาพได้ แม้ว่าจะมีบทยกเว้นมาตรการควบคุมยาสูบที่จะไม่ใช่กับบทที่ 9 การลงทุน (Chapter 9 Investment) ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมเรื่องการปลูกและบ่มใบยาสูบรวมถึงการดำเนินงานหลายเรื่อง เนื่องจากยังเปิดช่องให้อุตสาหกรรมยาสูบเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายควบคุมยาสูบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่นที่ถูกร้องเรียนว่าไม่สอดคล้องกับ CPTPP คือ กฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2563 ที่กำหนดภาษีบุหรี่ซิกาแรตเป็น 2 อัตรา อาจเข้าข่ายขัดต่อ “หลักการไม่เลือกปฏิบัติ” ดังนั้นหากรัฐบาลเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วม CPTPP ก็ควรมีการตั้งข้อสงวนในเรื่องมาตรการควบคุมยาสูบที่ครอบคลุมกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ
รศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความตกลงการค้าเสรี จะทำให้ราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกลง ทำให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เศรษฐกิจ และสังคม โดยความตกลง CPTPP มีประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย ดังนี้ 1) ไวน์และสุรากลั่น กรมสรรพสามิตของไทยกำหนดมาตรฐานที่ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์สุรานำเข้า และสุราที่ผลิตในประเทศอย่างสอดคล้องและเท่าเทียมกัน แต่ข้อกำหนดการทำเครื่องหมายและฉลากของไทย มีความเข้มงวดมากกว่าที่ความตกลง CPTPP กำหนด โดยเฉพาะในประเด็นการห้ามไม่ให้มีข้อความเชิญชวนให้บริโภค หรืออวดอ้างสรรพคุณบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
และ 2) การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุนเอกชน ประสบการณ์จากกลไก ‘กระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนโดยใช้อนุญาโตตุลาการ’ (ISDS) นักลงทุนได้ทั้งค่าชดเชยที่มาจากภาษีประชาชน และได้ทั้งการล้มนโยบายสาธารณะ ไม่ว่านโยบายนั้นจะออกมาเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สังคม หรือประชาชนในประเทศก็ตาม มีบางกรณีเพียงแค่นักลงทุนขู่ว่าจะฟ้อง นโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์กับประชาชนในประเทศนั้นๆ ก็ต้องถูกพับไป และพบว่ามีแรงกระตุ้นอย่างผิดปกติให้นักลงทุนฟ้องรัฐ ซึ่งเกือบทั้งหมดมาจากการยุแยงของบรรดาบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย ดังนั้นการให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย ถือเป็นการแทรกแซงนโยบายด้านสุขภาพ
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจํารูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบ โอไทย กล่าวว่า เห็นว่าครม. ไม่ควรจะมีการพิจารณาเรื่องนี้อีกแล้ว เนื่องจากผลการศึกษาของ “กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP)” สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมาได้ข้อสรุปอย่างชัดเจนว่าจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ดังรายงานที่ระบุว่า “คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่า เกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้านการเกษตรของไทย จะได้รับผลกระทบอย่างมากและกว้างขวาง ถ้าประเทศไทยเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ทั้งจากการเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตรและจากการรอนสิทธิในการใช้พืชพันธุ์การค้าหลังจากการเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา UPOV”
“อย่าลืมว่าผลการศึกษาดังกล่าวเป็นข้อเสนอของรัฐบาลเองที่ต้องการให้ใช้เวทีของสภาฯเป็นผู้พิจารณาเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายตั้งแต่ภาคเอกชน เกษตรกร ผู้บริโภค นักวิชาการ และตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองรวมทั้งจากพรรครัฐบาลด้วย เชื่อว่า หากครม.มีมติให้เข้าร่วมเจรจา CPTPP จะทำให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง” นายวิฑูรย์ กล่าว