KKP Research คาด GDP โต 2% จับตา 3ปัจจัยกำหนดเศรษฐกิจ
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร (Dr.Pipat Luengnaruemitchai, Chief Economist, KKP Research, Kiatnakin Phatra Securities Public Company Limited) บรรยายภาพรวมเศรษฐกิจในงานแถลงข่าวผลประกอบการ 2563 และทิศทางธุรกิจปี 2564 ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่จัดขึ้นแบบออนไลน์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ระบุ KKP Research ได้ปรับลดอัตราการเติบโต GDP เป็นร้อยละ 2 พร้อมให้ติดตาม ‘มาตรการควบคุมโรค-วัคซีน-มาตรการกระตุ้น’ 3 ประเด็นหลักที่จะกำหนดเศรษฐกิจ
“KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้า กระทบภาคส่วนต่างๆ แตกต่างกัน และมีความไม่แน่นอนสูง โดยได้ปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ปี 2564 ลงจากร้อยละ 3.5 เป็นร้อยละ 2.0 จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่นำไปสู่การออกมาตรการจำกัดการระบาดและการชะลอลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนต่างๆ อาจทำให้ความสามารถในการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศล่าช้าออกไปอีก ในกรณีเลวร้ายหากประเทศไทยไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ จนต้องมีมาตรการจำกัดที่ยาวนานขึ้น และไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยตลอดทั้งปี อาจมีความเสี่ยงที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยหดตัวถึงร้อยละ -1.2 ในปีนี้
ทั้งนี้ สามปัจจัยหลักที่กำหนดเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ได้แก่
(1) ความสำเร็จในการควบคุมการระบาดรอบใหม่ ผลกระทบจากมาตรการควบคุมของรัฐ และขีดจำกัดของระบบสาธารณสุข ซึ่งหากการแพร่ระบาดใช้ระยะเวลานานในการควบคุม หรือจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกิดความสามารถในการรองรับด้านสาธารณสุข อาจนำไปสู่การยกระดับความเข้มของมาตรการควบคุมภาครัฐ ส่งผลให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนและการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศชะลอตัวลงอีกครั้ง
(2) ประสิทธิผล ผลข้างเคียง และการกระจายวัคซีน หากวัคซีนไม่เป็นไปตามแผนทั้งในแง่ประสิทธิผลของการป้องกัน ผลข้างเคียงที่รุนแรง หรือความล่าช้าในการได้รับและการกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชน อาจส่งผลต่อการควบคุมการระบาดและการเปิดการท่องเที่ยว และ
(3) นโยบายการคลังและนโยบายการเงินเพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ประคับประคองความอยู่รอดของภาคธุรกิจและแรงงาน และกระตุ้นเพื่อชดเชยกำลังซื้อและความต้องการในการลงทุนที่หายไปจนกว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง
ยิ่งกว่านั้น นอกเหนือจากการรับมือปัญหาเฉพาะหน้าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเด็นระยะยาวที่ KKP Research เห็นว่าควรได้รับความใส่ใจ คือ (1) ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากวิกฤตโควิด ทั้งโอกาสในการศึกษาและโอกาสด้านการทำงาน และ (2) ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งด้านการแข่งขันในตลาดส่งออกและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ที่จะยิ่งเป็นปัญหามากยิ่งขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภค โครงสร้างการค้า และห่วงโซ่การผลิตโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปหลังโควิด-19” ดร.พิพัฒน์ กล่าว
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เกิดขึ้นจากการร่วมกิจการระหว่างธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินการโดย ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และธุรกิจตลาดทุนที่ดำเนินการโดยบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร จำกัด โดยกลุ่มธุรกิจฯ มุ่งนำทรัพยากรทางการเงินสู่ลูกค้าอย่างถูกต้อง พอเพียง และทั่วถึง ด้วยการบริการที่เหนือความคาดหมาย และไม่อาจหาได้จากแหล่งอื่น
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมสินเชื่อบรรษัท สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย เช่นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนธุรกิจด้านตลาดทุนของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมธุรกิจวานิชธนกิจ (Investment Banking) ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) ธุรกิจการลงทุน (Direct Investment) ตลอดจนธุรกิจจัดการกองทุน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kkpfg.com