วช. ประชุมสภาวิจัยโลก ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี 2564
วช. ประชุมสภาวิจัยโลก ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี 2564 หารือหน่วยงานให้ทุนวิจัย รวมประเด็นโควิด-19
วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น. ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้เข้าร่วมการประชุมออนไลน์ของสภาวิจัยโลก (Global Research Council: GRC) ภูมิภาคเอเชีย-แฟซิฟิก เพื่อแลกเปลี่ยนหารือกับหน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยในประเทศต่างๆของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งรับทราบความเคลื่อนไหวของหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ในหัวข้อ “Covid-19 Response” และความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการดำเนินงานต่างๆของ GRC
โดยมี Dr Prue Williams – General Manager, Ministry of Business, Innovation and Employment (MBIE), New Zealand เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม และมี Dr. Eaman Eftekhari – President, Iran National Science Foundation (INSF) เป็นผู้ดำเนินการประชุม ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก National Research Foundation (NRF), National Natural Science Foundation of China (NSFC), Indonesian Institute of Sciences (LIPI), National Science Council (NSC), Japan Science and Technology Agency (JST), Science and Engineering Research (SERB), National Science Foundation, Australian Research Council (ARC), และ วช. รวมทั้งสิ้น ๒๖ ท่าน
ทั้งนี้ สภาวิจัยโลก (GRC) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ประกอบด้วยการรวมตัวกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ทุนการวิจัยของประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่อสนับสนุนการแบ่งปันข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างหน่วยงานต่างๆ เปิดโอกาสให้ประเทศขนาดใหญ่และขนาดเล็กทำงานร่วมกันอย่างไร้เขตแดน ซึ่ง วช. ได้เป็นหน่วยงานของประเทศไทยเข้าร่วมประชุม (Participant) ของ GRC ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดยมีการประชุมเป็นประจำทุกปี
โดยจะเริ่มด้วยการประชุมในระดับภูมิภาคก่อน แบ่งเป็น ๕ ภูมิภาค ได้แก่ ๑) แอฟริกาใต้สะฮารา ๒) อเมริกา ๓) เอเชีย – แปซิฟิก ๔) ยุโรป และ ๕) ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เพื่ออภิปรายหารือให้ข้อสรุปร่วมกันเพื่อนำเสนอในที่ประชุมใหญ่ตามหัวข้อในแต่ละปี จากนั้นจึงจะเป็นการประชุมใหญ่ที่รวมหน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยทั่วโลก เพื่อหารือให้ได้ข้อสรุปและร่วมกันให้การรับรองเอกสาร/แถลงการณ์เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการให้ทุนวิจัย
ทั้งนี้ วช. ได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ และการประชุมระดับภูมิภาคเป็นประจำเกือบทุกครั้ง