วว.ร่วมขับเคลื่อน BCG Model ให้บริการ LAB ทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ เสริมแกร่งผู้ประกอบการไทย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ให้บริการ “ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ” ช่วยตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย BCG เสริมแกร่งผู้ประกอบการไทย ระบุเป็นห้องปฏิบัติการทดสอบฯ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับหน่วยรับรองผลิตภัณฑ์ระดับสากลทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มโอกาสทางการค้าของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก
ศ.(วิจัย)ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมุ่งให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการดำเนินนโยบาย BCG Model อันได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) นั้น วว. ในฐานะรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวง อว. มุ่งดำเนินงานวิจัยพัฒนาสนองนโยบายนี้เพื่อยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบ เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ ตลอดจนกระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
หนึ่งในหลายมิติดำเนินงานของ วว. ที่สอดคล้องนโยบาย BCG Model ก็คือ การเปิดห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ ณ อาคารศูนย์ทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพ (Biodegradable Testing Center: BioD) ภายใต้ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ (MPAD) กลุ่มบริการอุตสาหกรรม วว. โดยมีการดำเนินงานด้านการวิจัย งานบริการวิจัย/ วิเคราะห์ทดสอบด้านการสลายตัวทางชีวภาพของวัตถุดิบ/ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ ได้รับการยอมรับให้ขึ้นทะเบียนเป็นห้องปฏิบัติการทดสอบตามมาตรฐาน ISO 17088: 2012 (Specifications for compostable plastics) ในระดับสากลดังนี้ 1) สถาบัน DIN CERTCO ประเทศเยอรมนี และ Biodegradable Products Institute (BPI) ประเทศสหรัฐอเมริกา 2) โครงการฉลากเขียว สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (ตามข้อกำหนด TGL-44-12) และ ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบตามมาตรฐาน มอก. 17025 – 2561 (ISO/IEC 17025: 2017) ในการวิเคราะห์ทดสอบตาม ISO 17088 กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ทั้งนี้ ผลการทดสอบตามมาตรฐานสากลนี้ สามารถนำไปใช้ในการขอเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ด้านการสลายตัวทางชีวภาพจาก DIN CERTCO, BPI, สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสำนักรับรองระบบคุณภาพ วว.
วว. โดย ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ ให้บริการวิจัย /วิเคราะห์ทดสอบแก่ผู้ประกอบการใน 4 หัวข้อหลัก ดังนี้
1) พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ ตามมาตรฐาน ISO 17088 ที่สอดคล้องกับ มอก. 17088, EN 13432 และ ASTM D6400
2) การสลายตัวทางชีวภาพเบื้องต้นของวัสดุทั่วไปในปุ๋ยหมักหรือน้ำทะเลสังเคราะห์ (In-house method) โดยเป็นห้องปฏิบัติการเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการนี้ใช้หลักการตรวจวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมที่เกิดจากกิจกรรมการย่อยสลายของจุลินทรีย์ภายใต้สภาวะควบคุมในระดับห้องปฏิบัติการ เป็นวิธีการทดสอบที่รวดเร็ว แม่นยำ และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการทดสอบตามมาตรฐานสากล เป็นประโยชน์ต่องานวิจัยและพัฒนาวัสดุรวมถึงบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ
3) ตรวจสอบความสามารถในการสลายตัวทางชีวภาพของสารอินทรีย์ในสิ่งแวดล้อมทางน้ำในสภาวะที่มีอากาศตามมาตรฐาน OECD 301 (Ready Biodegradability) สร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย น้ำยาทำความสะอาด น้ำมันหล่อลื่น เป็นต้น
4) การบำบัดสารอันตรายตกค้างในสิ่งแวดล้อมโดยกระบวนการทางชีวภาพที่ใช้ประโยชน์จากกิจกรรมของกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสารอันตรายให้อยู่ในรูปที่มีค่าความเป็นพิษน้อยลง สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งพื้นที่ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม
“…ศูนย์ข้อมูลและวิจัยตลาดอุตสาหกรรมพลาสติก สถาบันพลาสติก ได้มีการวิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติกไทยในปี 2564 มูลค่าการส่งออกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 16.6% จะสร้างรายได้กว่า 2,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ส่งออกมูลค่า 2,331 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก จากข้อมูลดังกล่าว วว. พร้อมนำศักยภาพของ BioD เข้าไปตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมของไทย เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้ประกอบได้นำผลทดสอบไปทำการผลิตพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและผ่านกฎระเบียบในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ภาคอุตสาหกรรม/ผู้ประกอบการ/ นักวิจัย ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมการให้บริการของ ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ วว. ได้ที่ อาคาร BioD โทร. 0 2577 9057, 0 2577 9062 E – mail : anchana@tistr.or.th