IRCP เทิร์นอะราวด์ ผลการดำเนินงานงวด ปี 63 กำไรพุ่ง 107.39 % ประกาศปรับโครงสร้างทุนครั้งใหญ่ ล้างขาดทุนสะสม หวังจ่ายปันผลผู้ถือหุ้น
“IRCP” ตอกย้ำการเทิร์นอะราวด์ ผลการดำเนินงานงวดปี 63 พลิกกลับมามีกำไรเพิ่ม 107.39 % เดินหน้าปรับโครงสร้างทุน บอร์ดอนุมัติลดทุน-ลดพาร์ -เพิ่มทุน -ล้างขาดทุนสะสม หวังกลับมาจ่ายปันผลผู้ถือหุ้น ลุยประมูลงานใหม่ ขณะที่ “ประชา-แดน เหตระกูล” ลั่นพร้อมใส่เงินเพิ่มทุนเกินสิทธิ หากมีผู้ถือหุ้นใช้สิทธิไม่เต็มจำนวน มั่นใจเดินหน้าสร้างการเติบโตให้บริษัทอย่างมั่นคง มุ่งสู่ผู้ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารครบวงจร
นายแดน เหตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IRCP ผู้ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่มีประสบการณ์มายาวนานกว่า 34 ปี เปิดเผย ผลการดำเนินงานประจำปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ว่า สามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 7.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107.39 % เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ผลดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 101.45 ล้านบาท ขณะที่ผลดำเนินงานงวดไตรมาส 4 ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 20.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิ 18.37 ล้านบาท
“ บริษัทมีกำไรสุทธิติดต่อกัน 3 ไตรมาส จากไตรมาส 1 ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 34.60 ล้านบาท แต่ไตรมาส 2 กลับมามีกำไรสุทธิ 2.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,265% จากไตรมาส 1 และไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิ 18.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 518% จากไตรมาส 2 สะท้อนให้เห็นถึงการกลับมาเทิร์นอะราวด์ อย่างชัดเจน” นายแดน กล่าว
นายแดนกล่าวว่า ผลดำเนินงานที่ดีขึ้นมาจากบริษัทย่อยคือบริษัทไอทีกรีน หรือ ITG มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น โดยมีรายได้ 486.51 ล้านบาท ควบคู่กับการควบคุมค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนที่ทำได้ดี โดยปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 942.26 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 952.59 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายลดลง 11.22% และมั่นใจว่าผลดำเนินงานจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจอุปกรณ์และโปรแกรม ระบบรักษาความปลอดภัยของเครือข่าย ที่มีคำสั่งซื้อขนาดใหญ่ขึ้น และเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรขั้นต้น(มาร์จิ้น)ดี โดยมีมาร์จิ้น 15.43 % เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 15.40 % ซึ่งแนวโน้มของธุรกิจอุปกรณ์และโปรแกรมระบบรักษาความปลอดภัยของเครือข่าย ยังเติบโตได้อีกมากตามธุรกรรมบนโลกออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้ปี 2564 มีรายได้เติบโตขึ้น คาดว่าปี 2564 จะมีรายได้ทะลุ 1,000 ล้านบาท
นายแดนยังกล่าวว่า เพื่อให้บริษัทกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 18 ก.พ 2564 มีมติให้บริษัทปรับโครงสร้างทุนครั้งใหญ่ โดย 1.อนุมัติให้ลดทุนจดทะเบียน โดยลดทุนส่วนที่ยังไม่ได้เรียกชำระจำนวน 66.23 ล้านหุ้น ส่งผลให้ทุนจดทะเบียนลดจาก 320.54 ล้านหุ้น ราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาท เหลือ 254.30 ล้านหุ้น 2. มีมติให้ลดทุนด้วยการลดพาร์จาก 1 บาท เหลือ 0.50 บาท หรือลดไป 127.15 ล้านบาท ส่งผลให้ทุนจดทะเบียนลดจาก 254.30 ล้านบาท เหลือ 127.15 ล้านบาท โดยมีจำนวนหุ้นหลังลดทุนยังคงอยู่ที่ 254.30 ล้านหุ้น
3.บอร์ดมีมติให้นำส่วนเกินมูลค่าหุ้นที่มีอยู่กว่า 117.15 ล้านบาท และสำรองตามกฎหมาย 25.43 ล้านบาท มาล้างขาดทุนสะสม ซึ่ง ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีผลขาดทุนสะสมอยู่ 297.20 ล้านบาท ภายหลังดำเนินการจะทำให้มีขาดทุนสะสมเหลือเพียง 27.47 ล้านบาท และมั่นใจว่าจะล้างขาดทุนสะสมได้หมด เพื่อกลับมาจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้เร็ว ๆ นี้
4. คณะกรรมการมีมติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 254.30 ล้านหุ้น เป็น 435.55 ล้านหุ้น โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 181.25 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (RO) ในสัดส่วน 1.4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุนใหม่ เสนอขายในราคาหุ้นละ 0.80 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุนจากการขายหุ้นเพิ่มทุนทั้งสิ้น 145 ล้านบาท โดยจะเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ในวันที่ 9 เมษายน 2564
“ขอย้ำกับผู้ถือหุ้นว่าไม่ต้องกังวลกับการเพิ่มทุนของบริษัท เพราะการรบกวนผู้ถือหุ้นครั้งนี้ ก็เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งด้านการเงินของบริษัท และเตรียมเงินทุนให้พร้อมในการขยายธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับงานใหม่ ๆเพิ่มขึ้น สร้างการเติบโตอย่างมั่นคง รวมทั้งการกลับมาจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้เร็วที่สุด” นายแดน กล่าว
นอกจากนี้ นายประชา เหตระกูล และตนเอง ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการ และผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ได้ทำหนังสือแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทว่า มีความประสงค์ที่จะใช้สิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามสัดส่วนเต็มจำนวน และพร้อมจองซื้อหุ้นส่วนเกินสิทธิอีก 155.78 ล้านหุ้น หากมีผู้ถือหุ้นอื่นใช้สิทธิไม่เต็มจำนวน ซึ่งอาจส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของ นายประชา เหตระกูล และตนเอง เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 49.82 % ซึ่งอาจเป็นผลทำให้ นายประชา เหตระกูล และตนเอง ถือหุ้นก้าวข้ามจุดที่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทที่ 25 % จึงจะมีการขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด (Tender Offer) ต่อ สำนักงาน ก.ล.ต.
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะขายหุ้นเพิ่มทุนได้ช่วงเดือน ก.ค. 2564 ส่วนเงินที่ได้จากการเพิ่มทุน นอกจากทำให้โครงสร้างทุนแข็งแกร่งและสัดส่วนหนี้สินต่อทุนมีความเหมาะสมมากขึ้นแล้ว บริษัทจะนำไปขยายกิจการ รองรับการประมูลงานในโครงการ ต่าง ๆ ของภาครัฐเพิ่มมากขึ้น โดยปีนี้มีแผนเข้าร่วมประมูล งานรัฐมากกว่า 20 โครงการ เพื่อเพิ่มมูลค่างานในมือให้เพิ่มสูงขึ้นสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายว่า ปี 2564 รายได้จะโตขึ้นจากปี 2563 เกินกว่า 50 % โดยสิ้นปี 2563 บริษัทมีงานในมือที่เตรียมทยอยรับรู้รายได้ภายในปี 2564 ประมาณ 350 ล้านบาท
#
ลักษณะธุรกิจของ IRCP
IRCP ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมายาวนานกว่า 34 ปี บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์และด้านบริการให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่และจัดแบ่งโครงสร้างธุรกิจ 5 สายธุรกิจ ได้แก่ 1. ธุรกิจโทรคมนาคม 2. ธุรกิจโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศระดับองค์กร 3. ธุรกิจพลังงาน 4. ธุรกิจการพัฒนาซอฟต์แวร์และธุรกิจระบบวิทยุและโทรทัศน์กระจายเสียง 5. กลุ่มบริษัทย่อย