วช. เปิดบ้านโชว์นักวิจัยดีเด่น 1ใน 7 ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติปี64
วช. เปิดตัวนักวิจัยดีเด่น 1 ใน 7 ผู้ที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี64 “ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต” คุณหมอนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมทีมงานสร้างผลงานเด่นกว่า 150 เรื่องด้านโลหิตวิทยา นำสู่การตรวจวินิจฉัยและรักษา พร้อมผลงานล่าสุดร่วมออกแบบพัฒนารถพระราชทาน “รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย” ชี้ “ปัญหาโควิด” จุดเปลี่ยนไทยและโลก ทำคนมองเห็นงานวิจัยมีประโยชน์และมีความสำคัญ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีภารกิจที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย และให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณ ยกย่องนักวิจัย หรือหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม โดยมีการมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ (ระดับปริญญาเอก) และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ วช. ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นรางวัลที่มอบให้นักวิจัยที่มีสัญชาติไทย ซึ่งได้อุทิศตนให้แก่การวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายเรื่องในกลุ่มวิชาการหรือสหวิทยาการอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่ม เป็นผลงานวิจัยที่ทำสะสมกันมาไม่น้อยกว่า 5 ปี และเป็นผู้ที่มีจริยธรรมของนักวิจัยจนเป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการนั้น ๆ โดยผลงานวิจัยสร้างคุณูปการและเกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงชุมชน สังคม และเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่อง สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยรุ่นหลังได้
โดยในปีนี้ วช. ได้มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งรางวัลดังกล่าวจะมีพิธีมอบรางวัลฯ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 และเพื่อเป็นการแนะนำนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติที่ได้รับรางวัลในปีนี้ วช. จึงได้จัดกิจกรรมแถลงข่าว เรื่อง “Kick off กิจกรรมเปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT (In-House) : 1 ในนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564” ขึ้น ซึ่งในวันนี้ วช. ได้มีการเปิดตัว 1 นักวิจัย ผู้ที่ได้รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 จากจำนวน 7 ท่าน ใน 5 สาขา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2564
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต เป็นนักวิจัยที่ได้อุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ยาวนานนับ 20 ปี โดยศึกษาวิจัยทางด้านโลหิตวิทยาและธาลัสซีเมีย มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการวิจัยและแสวงหาองค์ความรู้ใหม่เพื่อช่วยพัฒนาให้การดูแลรักษาผู้ป่วยทางโลหิตวิทยาและโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียให้ดียิ่งขึ้นไป โดยมีโครงการวิจัยที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการในปัจจุบันจำนวนมาก เพื่อที่จะแสวงหาคำตอบและการพัฒนาการวินิจฉัย และการรักษาผู้ป่วยในประเด็นอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ในการทุ่มเททำการวิจัยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 20 ปี มีผลงานวิจัยมากกว่า 150 เรื่องและได้รับการอ้างอิงมากกว่า 6,000 ครั้งในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร เปิดเผยว่า งานวิจัยที่ทำแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.)งานวิจัยโรคด้านโลหิตวิทยา เป็นการพัฒนาวิธีการวินิจฉัย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอและจีโนม ซึ่งการวิจัยในส่วนนี้นำไปสู่การค้นพบโรคชนิดใหม่ของโลก “KLF-1” (Kuppel – Like Factor 1) ที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน โดยเป็นโรคทางพันธุกรรมแบบยีนด้อย พ่อแม่ที่มียีนด้อยส่งผลทำให้ลูกมีภาวะซีด ตั้งแต่อยู่ในท้องหรือหลังคลอด เหลืองและมีภาวะตับ ม้ามโต ต้องได้รับเลือดตลอดชีวิต ที่ผ่านมาแพทย์ส่วนใหญ่มักวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยว่าเป็น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เนื่องจากมีอาการคล้ายกัน โดยอุบัติการเกิดโรค “KLF-1” นี้ในคนไทยอยู่ที่ 1 ใน 200 คน
2.)งานวิจัยทางคลินิก ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคทางโลหิตวิทยา โดยเฉพาะโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โดยมีการวิจัยเรื่องการพัฒนาการวินิจฉัยโรคในทุกมิติ รวมถึงการวินิจฉัยพาหะ การวินิจฉัยผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ การวินิจฉัยก่อนคลอด คือตั้งแต่ช่วงหญิงตั้งครรภ์ การตรวจตัวอ่อนและทารกในครรภ์
3.)ในส่วนการวิจัยเกี่ยวกับการรักษา มีการพัฒนายาใหม่ที่สร้างความภาคภูมิใจคือ การวิจัยยาขับเหล็กที่ทำให้ประเทศไทย โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.)ผลิตได้เอง คุณภาพเทียบเท่าของตะวันตก ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำในต่างประเทศและยังเป็นการเปิดตลาดยารักษาภาวะเหล็กเกินที่ไทยผลิตเองส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน เมียนมา ลาว กัมพูชาและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งภาวะเหล็กเกินนั้นจะทำให้ไปสะสมอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย อาทิ ตับ ตับอ่อน หัวใจ กล้ามเนื้อ ต่อมไร้ท่อและอื่น ๆ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระ (Free Radicle) ทำให้อวัยวะภายในเสื่อมสภาพและเสียชีวิตในที่สุด
นอกจากนี้ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปรและทีมงานยังมีผลงานที่เป็นนวัตกรรมเด่นอีกอย่างได้แก่ การพัฒนาซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมเพื่อวัดภาวะเหล็กเกินแบบใหม่ที่ไม่ต้องรุกล้ำร่างกายของคนไข้ โดยใช้เทคโนโลยี MRI ดูสัญญาณแม่เหล็กที่เปลี่ยนแปลงเพื่อวัดค่าเหล็ก และมีซอฟต์แวร์ในการคำนวณ ซึ่งไทยสามารถพัฒนาได้เป็นชาติที่ 3 ของโลกรองจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยจดสิทธิบัตรแล้วและเปิดโอกาสให้โรงพยาบาล โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและสถาบันสำคัญอื่น ๆ นำไปใช้ได้ฟรีเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมและเป็นความร่วมมือในระดับนานาชาติ เช่น สถาบันสุขภาพเด็กของฟิลิปปินส์นำไปใช้ ช่วยลดปัญหาผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไกลมาตรวจที่โรงพยาบาลที่ใดที่หนึ่ง เปิดโอกาสเข้าถึงการตรวจวินิจฉัย
ผลจากการพัฒนาองค์ความรู้ นำไปสู่การพัฒนาการให้บริการการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียให้มีมาตรฐานสูงสุด ทำให้ศูนย์ธาลัสซีเมีย ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ จนได้รับการยกย่องและได้รับรางวัล โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียนานาชาติ “สุลต่าน บิน คาลิฟา” (Sultan Bin Khalifa International Award : SITA) ในฐานะศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมีย (Best Centre of Excellence on Thalassaemia Care)
ส่วนอีกผลงานที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปรและ คณะในนามกลุ่ม Thailand COVID-19 Response Team (TCRT) ได้ออกแบบ “รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย” ที่พัฒนาให้ขนาดไม่ใหญ่และมีความปลอดภัยสูงสุด โดยออกแบบตู้ชีวนิรภัย (biosafety unit) ติดตั้งอยู่บนด้านหลังรถกระบะดัดแปลงแบบตอนเดียว
ทั้งนี้ตู้นิรภัยมีระบบปรับและกรองอากาศด้วยแผ่นกรองอากาศประสิทธิภาพสูงและระบบความดันบวก เพื่อป้องกันแพทย์ผู้เก็บตัวอย่างภายในรถไม่ให้ติดเชื้อโควิดโดยไม่ต้องใช้ชุด PPE รถมีระบบทำความสะอาดตัวเองด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อในตำแหน่งที่เก็บตัวอย่างและมีระบบโอโซนเพื่อทำความสะอาดภายในตู้นิรภัยภายหลังการเก็บตัวอย่างแต่ละวัน
“หลังจากพัฒนาในเดือนเมษายน 2563 เป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งแรก ได้นำน้อมเกล้าถวายรถต้นแบบแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งพระองค์ท่านได้ให้กระทรวงสาธารณสุขไปทดลองใช้ ต่อมาทางกระทรวงฯรายงานว่า มีประโยชน์ พระองค์ท่านจึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้าง 13 คันและสร้างเพิ่มอีก 7 คันในช่วงมีการระบาดรอบใหม่ ที่มาพร้อมเทคโนโลยีล้ำกว่าเดิม อาทิ มีระบบระบุอัตลักษณ์แรงงานต่างด้าวและป้องกันบุคลากรการแพทย์ปฏิบัติการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในอนาคตให้มีความปลอดภัยด้วย”
ปัจจุบันศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร ยังทำงานอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ งานการวินิจฉัยโรคด้านโลหิตวิทยาและด้านอื่น ๆ โดยใช้เทคโนโลยีจีโนม เป็นการตรวจดีเอ็นเอ การตรวจสารคัดหลั่งโดยได้พัฒนาเทคโนโลยีในการวินิจฉัยและวิเคราะห์เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคเพื่อตรวจโรคที่เป็นอยู่และโรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้คุณหมอยังได้รับเลือกเป็นประธานศูนย์วิจัยแห่งความเป็นเลิศด้านยีนบำบัดและเซลล์บำบัด โดยรับผิดชอบพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรักษาโรคที่ซับซ้อน คือ โรคทางพันธุกรรมและโรคมะเร็ง เป็นการรักษาแบบมุ่งเป้าที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย
“ผมต้องขอขอบพระคุณทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติเป็นอย่างสูง ที่กรุณาให้เกียรติ ให้โอกาสผมได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 งานวิจัยที่ผมทำไม่ได้ทำด้วยตัวเองคนเดียว ผมถือว่า รางวัลที่ได้รับนี้เป็นของทีมงาน ทีมวิจัยของผมทุกคน งานวิจัยทำโดยคนคนเดียวไม่ได้ เพราะการทำงานวิจัยที่จะให้เกิดผลแบบ Big Impact มาก ๆ ต้องมีการช่วยเหลือ ร่วมมือกันของทีมวิจัยที่เข้มแข็ง ผมเองโชคดีที่มีโอกาสสร้างกลุ่มวิจัยของตัวเองตั้งแต่อยู่ในต่างประเทศ และทำงานวิจัยต่อเนื่องมาโดยตลอด รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้เป็นขวัญกำลังใจให้กับตัวผมเองและกลุ่มวิจัยทั้งกลุ่มที่ทำงานกันอย่างหนักมาตลอด 20 ปี และน่าจะเป็นต้นแบบให้น้อง ๆ นักวิจัยไม่ว่าจะเป็นสาขาใดก็ตามในประเทศไทยว่า ในที่สุดถ้าคุณทำงานที่มีประโยชน์ ตอบโจทย์สังคม งานวิจัยนั้นก็จะเป็นที่เล็งเห็นในที่สุด” ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร กล่าวและทิ้งท้ายว่า
“ผมคิดว่าปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศไทยและจุดเปลี่ยนของโลก เราจะเห็นได้ว่า งานวิจัยและพัฒนามีความหมายและมีความสำคัญอย่างไร ในอดีตคนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์นักวิจัยอาจดูไม่เก๋ ไม่เท่ แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น มีโจทย์ยาก ๆ ทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจและสาธารณสุขเข้ามา เราจำเป็นต้องหาคำตอบเพื่อสร้างนโยบาย สร้างแนวทางปฏิบัติ สร้างกลยุทธ์เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนและผ่านปัญหาพวกนี้ไปให้ได้
กระบวนเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นจากการวิจัย ถ้าเรามีโจทย์และเราไม่หาวิธีการตอบโจทย์เราก็จะต้องใช้วิธีการเดิม ๆ ที่อาจไม่สามารถตอบปัญหานั้นได้ ปัญหาโควิดจึงมีประโยชน์ในแง่ของการทำให้ผู้คนในสังคมเห็นว่า การวิจัยมีประโยชน์และมีความสำคัญอย่างไร “
อนึ่งนักวิจัยที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จะได้เหรียญรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ พร้อมประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติคุณ และเงินรางวัลในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 30 พฤษภาคม 2564 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร