10 โรคทรวงอกที่สามารถรักษาได้ โดยการผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเล็ก
ในยุคที่ฝุ่นละออง PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆในทั่วทุกภาคของประเทศไทยและยุคของเชื้อโคโรน่าไวรัสโควิด-19 ระบาด ทำให้คนไทยต้องใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับสภาพภูมิอากาศ และฝุ่นละอองในอากาศ ที่มีมลภาวะเป็นพิษ ซึ่งจากสาเหตุดังกล่าว ส่งผลทำให้โรคทางทรวงอกนับเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมา โดยตามสถิติของสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทยในปี 2563 พบว่ามีผู้ป่วยได้ทำการรักษาโดยการผ่าตัดโรคในช่องทรวงอกมากกว่า 5,000 รายทั่วประเทศ โดยอวัยวะที่อยู่ในทรวงอก ประกอบไปด้วยตั้งแต่หัวใจ ปอด หลอดอาหาร หลอดลม รวมถึงเส้นเลือดที่สำคัญอีกมากมาย หากเราเกิดอาการผิดปกติ อาการต่าง ๆ มักจะแสดงออกมาขึ้นอยู่กับตำแหน่งของแต่ละโรค ดังนั้นการรักษาให้ถูกจุด เช่น การตรวจหาสาเหตุของโรคทรวงอก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยจะต้องรับรู้และเลือกที่จะรับการรักษา
นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านผ่าตัดส่องกล้อง โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กล่าวว่า วิธีการผ่าตัดในอวัยวะช่องทรวงอกนั้น ตามมาตรฐานยังคงเป็นการผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งทำการผ่าตัดโดยการใช้อุปกรณ์ไปถ่างซี่โครงบริเวณซี่ที่ 5 โดยแผลผ่าตัดขนาดประมาณ 15-20 เซนติเมตร เพื่อเข้าไปทำการผ่าตัดในบริเวณช่องทรวงอก ข้อดีคือ สามารถเห็นชัดและการผ่าตัดทำได้ง่ายและวิธีนี้เราจะสามารถโยกซ้ายหรือโยกขวาและเห็นมุมต่าง ๆ ได้มากกว่า เนื่องจากเป็นแผลผ่าตัดที่เปิดขนาดใหญ่ ส่วนข้อเสีย คือ อาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหรือซี่โครงหัก หรือทำให้เกิดการระคายเคืองของเส้นประสาทที่อยู่บริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ยังทำให้มีแผลเป็นขนาดใหญ่ มีโอกาสเสียเลือดมาก มีอาการเจ็บปวดหลังได้รับการผ่าตัดและผู้ป่วยต้องพักฟื้นเป็นเวลานาน
ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ มีการพัฒนามากขึ้น รวมถึงมีศัลยแพทย์ที่มีความสามารถในการผ่าตัดมากขึ้น ส่งผลทำให้วิธีการผ่าตัดมีการพัฒนาไปมากเช่นเดียวกันโดยแนวทางการรักษาโรคปอดและทรวงอกนั้น เปลี่ยนจากการผ่าตัดแบบเปิดเป็นการผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเดียว (Uniportal video assisted thoracoscopic srugery; VATS) โดยใช้เลนส์ยาวร่วมกับอุปกรณ์ผ่าตัดแบบเฉพาะผ่าตัดผ่านช่องซี่โครงบริเวณที่ 4 หรือ 5 โดยไม่มีเครื่องถ่างขยาย โดยมีขนาดแผลประมาณ 3-4 เซนติเมตรเท่านั้น ส่งผลทำให้ผู้ป่วยหลังผ่าตัด มีอาการเจ็บลดลง แผลเล็ก ฟื้นตัวได้ไวและสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ได้เร็วขึ้น ซึ่งผลของการผ่าตัดนั้น จะไม่มีความแตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด
สำหรับ 10 โรคเกี่ยวกับทรวงอก ที่สามารถทำการผ่าตัดโดยการส่องกล้องแบบแผลเล็ก ได้แก่ 1. โรคมะเร็งปอด (Lung cancer) 2. โรคเนื้องอกในปอด (Benign lung nodule) 3.โรคลมรั่วในเยื่อหุ้มปอด หรือ ลมรั่วขณะมีประจำเดือน (Spontaneous or Catamenial pneumothorax) 4. โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี (Myasthenia gravis) 5. โรคเนื้องอกของต่อมไทมัส (Thymoma) 6. โรคหนองในปอด (Empyema thoracic)7. โรคน้ำขังในเยื่อหุ้มหัวใจหรือช่องอก (Malignant Pericardial effusion , Maliganant Pleural effusion) 8. โรคเหงื่อออกที่มือ (Palmar hyperhidrosis) 9.โรคอกบุ๋ม (Pectus excavanatum) 10.โรคถุงน้ำในช่องทรวงอก (pericardial cyst, bronchogenic cyst, esophageal cyst)
อย่างไรก็ตามการผ่าตัดด้วยวิธีการส่องกล้อง ผู้ป่วยจะต้องมีการเตรียมพร้อมประกอบด้วย 1. ต้องหยุดกินยาบางชนิดก่อนก่อนผ่าตัด เช่น แอสไพรินหรือยาละลายลิ่มเลือด 2. หากผู้ป่วยสูบบุหรี่ต้องเลิกสูบบุหรี่ก่อนการผ่าตัด 3.หมั่นออกกำลังกายก่อนเข้ารับการผ่าตัด 4.ฝึกการหายใจด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า สไปโรมิเตอร์ 5.หลีกเลี่ยงการกินหรือดื่มหลังเที่ยงคืนก่อนการผ่าตัด 6.ผู้ป่วยบางรายต้องได้รับการตรวจพิเศษเพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น เอ็กซเรย์ทรวงอก เพื่อดูหัวใจและปอด ,ตรวจ CT Scan หัวใจและปอดและการตรวจPET/CT Scan เพื่อค้นหาเนื้อเยื่อมะเร็ง การผ่าตัดส่องกล้อง ( VATS) นั้น สามารถทำการผ่าตัดได้ในโรคที่กล่าวมาข้างต้น
แต่อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจแนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจศัลยแพทย์เป็นหลักและตามความสามารถของศัลยแพทย์ทรวงอกที่มีความเชี่ยวชาญด้านผ่าตัดส่องกล้อง การผ่าตัดแบบส่องกล้องข้อห้ามคือ ผ่าตัดซ้ำซ้อน เช่น ตัดต่อเส้นเลือดหรือมีก้อนที่มีขนาดใหญ่มากกว่า 7 เซนติเมตร สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านทรวงอก ยิ่งรักษาได้เร็ว โอกาสหายขาดก็ยิ่งสูงขึ้น