“อนุทิน” แจง สธ.ส่งวัคซีนโควิดตามข้อตกลง 3 ฝ่าย ศบค. กทม. สธ.
“อนุทิน” แจง สธ.ส่งวัคซีนโควิดตามข้อตกลง 3 ฝ่าย ศบค. กทม. สธ.
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แจงกระทรวงสาธารณสุขส่งวัคซีนโควิด ตามข้อตกลง 3 ฝ่าย คือ ศบค. กทม. และสธ. ให้จังหวัดบริหารจัดการฉีดวัคซีนให้ได้ต่อเนื่อง หากโรงพยาบาลหรือจุดฉีดเกิดปัญหาให้ปรึกษาทางจังหวัดก่อน พร้อมดูแลกลุ่มจองหมอพร้อมที่ถูกเลื่อนนัดฉีดในเดือนมิถุนายน หากกทม.ไม่สามารถรองรับได้
วันนี้ (14 มิถุนายน 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขจัดส่งวัคซีนโควิด 19 ไปทั่วประเทศตามข้อตกลง 3 ฝ่าย ได้แก่ ศบค. กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆ คือ จังหวัด กทม. และหน่วยงานที่รับวัคซีน ไม่ได้จัดส่งตามดุลยพินิจตัวเอง
โดยยืนยันว่าทุกจังหวัดได้รับวัคซีนตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ ส่วนการจัดฉีดวัคซีนทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/ กทม. เป็นผู้บริหารจัดการเอง โดยต้องฉีดให้สมดุลกับวัคซีนที่ได้รับ เพื่อให้มีวัคซีนฉีดต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่การบริหารจัดการ ไม่ให้เกิดการสะดุดขึ้น ดังนั้น หากโรงพยาบาลหรือศูนย์ฉีดวัคซีนมีปัญหาเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 ขอให้ปรึกษากับทางจังหวัดก่อน เช่น พื้นที่ กทม. ปรึกษากับสำนักอนามัย กทม.เป็นต้น อย่าเพิ่งโพสต์ข้อความเลื่อนการฉีดหรือระบุว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่จัดส่งวัคซีนให้ เพราะเป็นข้อความที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเราจัดส่งให้จังหวัดไปแล้ว และทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกคิดว่าวัคซีนขาด ทั้งที่ความจริงวัคซีนไม่ได้ขาด
นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับเดือนมิถุนายน มีเป้าหมายการฉีดให้กับผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรัง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อมีโอกาสติดเชื้อรุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยจัดสรรให้กทม. 1 ล้านโดส ซึ่งครอบคลุม 2 กลุ่มนี้ ที่ลงทะเบียนนัดฉีดวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม
อย่างไรก็ตาม เมื่อ ศบค.ประกาศชะลอการนัดผ่านระบบหมอพร้อม และกทม.มีระบบนัดหมายของตัวเองผ่านไทยร่วมใจ อาจเกิดความผิดพลาดเรื่องการบันทึกข้อมูลย้ายรายชื่อ วันเวลานัดของกลุ่มหมอพร้อมไปยังไทยร่วมใจ ซึ่งหาก กทม.ยังไม่สามารถจัดบริการฉีดให้กลุ่มนี้ได้ กระทรวงสาธารณสุขจะเก็บตกกลุ่มที่ถูกเลื่อนนัดฉีดในเดือนมิถุนายน ให้ทยอยมาฉีดวัคซีนในจุดฉีดของกระทรวงสาธารณสุขแทน เช่น ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันโรคทรวงอก เป็นต้น ซึ่งการฉีดวัคซีนมีทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวคตามการเข้ามาของวัคซีน
นอกจากนี้ ทาง กทม.จะมีการปรับแผนการกระจายและการฉีดวัคซีนใหม่เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน โดยกระทรวงสาธารณสุขยินดีสนับสนุนเพื่อการฉีดวัคซีนเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
สำหรับเดือนมิถุนายนอาจมีวัคซีนเข้ามาฉีดประชาชนถึง 9 ล้านโดส ได้แก่ วัคซีนที่ยกยอดมาจากเดือนพฤษภาคม 2 ล้านโดส, วัคซีนที่รัฐบาลจีนบริจาค 5 แสนโดส, วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรก 2 ล้านโดส, วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล็อตหลัง 1.5 ล้านโดส, วัคซีนซิโนแวคที่ได้รับเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 1 ล้านโดส และวัคซีนซิโนแวคที่จะเข้ามาอีก 2 ล้านโดส ซึ่งถือว่าเกินเป้าหมายแผนที่วางไว้ว่าจะฉีดให้ได้ 6 ล้านโดส โดยเมื่อได้วัคซีนมา ก็จะกระจายออกไปทันที