2คณะม.มหิดลMOUร่วมมือทางวิชาการโครงการร่วม 2 หลักสูตร สร้างนักฉุกเฉินการแพทย์ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ โครงการร่วม 2 หลักสูตร เพื่อสร้างนักฉุกเฉินการแพทย์ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา“หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ – หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา” และ โครงการวิทย์กีฬา/เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (จฉพ.) ระหว่าง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าวพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการโครงการร่วม 2 หลักสูตร เพื่อสร้างนักฉุกเฉินการแพทย์ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา “หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ – หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา” และ โครงการวิทย์กีฬา/เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (จฉพ.) ขึ้น ณ ห้องประชุม 910BC ชั้น 9 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีพันธกิจสำคัญในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน และนักฉุกเฉินการแพทย์ หรือ Paramedic นับว่ามีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลผู้ป่วยที่มีความฉุกเฉินเร่งด่วน โดยการผนวกเข้ากันระหว่าง สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ และ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา ถือเป็นมิติใหม่ของการดูแลผู้ป่วยเร่งด่วนที่เป็นบุคลากรสำคัญในด้านการกีฬาได้เป็นอย่างดี
เวชศาสตร์การกีฬา เป็นศาสตร์หนึ่งทางการแพทย์ที่มีบทบาทในการประเมินและดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากกีฬา โดยมีบุคลากรเฉพาะทางที่สำคัญ ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์การกีฬา ผู้ฝึกสอนนักกีฬา นักกายภาพบำบัด และนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ทำหน้าที่ดูแลผู้บาดเจ็บในสนามแข่งขันกีฬา และมีบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน นักฉุกเฉินการแพทย์ (Paramedic) เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (Advanced emergency medical technician: AEMT) หรือ พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (Emergency medical technician: EMT) ทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้บาดเจ็บระหว่างส่งต่อไปยังสถานพยาบาล เมื่อบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินได้เข้าศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวนี้ จะทำให้การดูแลรักษาผู้บาดเจ็บทั้งในสนามแข่งขันกีฬาและระหว่างส่งต่อสถานพยาบาลร่วมกับบุคลากรด้านเวชศาสตร์การกีฬามีประสิทธิผลดียิ่งขึ้น
โครงการร่วม 2 หลักสูตรนี้ จะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2565 โดยเปิดรับนักเรียนที่มีความสนใจเป็นนักฉุกเฉินการแพทย์เฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา จำนวน 5 คน ตลอดระยะเวลาการศึกษาทั้ง 2 หลักสูตร จำนวน 5 ปี และจะได้รับปริญญา 2 ใบ ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ และ ปริญญาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา รายละเอียดหลักสูตร สามารถติดตามได้ทาง Facebook “Rama Medic”
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บวรฤทธิ์ จักรไพวงศ์ คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งมั่นในการผลิตบัณฑิตให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีแก่ประชาชนและพัฒนากีฬาสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งแนวคิดในการจัดทำโครงการร่วม 2 หลักสูตร กับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มุ่งเน้นการสร้าง “นักฉุกเฉินการแพทย์ที่มีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา” ให้สามารถปฏิบัติการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งในสถานพยาบาลและจุดเกิดเหตุได้อย่างถูกวิธีและรวดเร็วที่สุด ลดความเสี่ยงของการเกิดเหตุฉุกเฉินในภาวะวิกฤตในระหว่างการแข่งขันกีฬา หรือการเสียชีวิต
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการสร้างและพัฒนาทรัพยากรการแพทย์ฉุกเฉินด้านการกีฬา ระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถือเป็นการบูรณาการและต่อยอดการศึกษา การวิจัย การบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ในการจัดการแข่งขันกีฬาและพัฒนานวัตกรรม ผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ วิชาชีพ สร้างการเปลี่ยนแปลงและยกระดับมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินในการจัดการแข่งขันกีฬาให้ขยายผลออกไปในวงกว้าง และเป็นไปตามมาตรฐานสากลต่อไป