วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรฯแนะ ใช้ฟ้าทะลายโจร-สมุนไพรช่วยผู้ป่วยโควิดก่อน ไม่เน้นกินป้องกัน
วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ การใช้ยาฟ้าทะลายโจรและสมุนไพรในผู้ป่วยโควิด แนะใช้ช่วยผู้ป่วยก่อน ไม่เน้นกินป้องกัน หวั่นส่งผลต่อตับหากกิน และยาไม่เพียงพอ พร้อมแนะแก้ไขฉลากยาคำแนะนำการใช้ให้ชัดเจน
วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เรื่องการใช้ยาฟ้าทะลายโจรและสมุนไพรในผู้ป่วยโควิด 19 โดยระบุเป็น 6 ข้อ ดังนี้
- วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรตามบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร และแนวทางการรักษาโควิดของกรมการแพทย์ ในผู้ป่วยโควิด ๑๙ ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย เพื่อลดความรุนแรงของโรค โดยให้ยาฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร เป็นเวลา 5 วัน โดยต้องเริ่มยาให้เร็วที่สุด
- วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย ไม่สนับสนุนการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการป้องกันการติดเชื้อ หรือเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อหวังผลป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานยืนยันประสิทธิผล และเพื่อให้มียาฟ้าทะลายโจรเพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ให้ได้เข้าถึงยา รวมทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดพิษต่อตับที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้ผู้ผลิตยาได้เร่งแก้ไขฉลากยา โดยให้ระบุปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่ได้รับต่อหนึ่งหน่วยบริโภคบนฉลากอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับขนาดยาที่ถูกต้อง รวมทั้ง ระบุข้อห้ามใช้ ให้ถูกต้องตามที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำหนด
- วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้เภสัชกรมีบทบาทในการจัดเก็บข้อมูลประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาฟ้าทะลายโจรและสมุนไพรอื่น ๆ ที่มีการนำมาใช้รักษาหรือป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาสมุนไพรที่ปลอดภัย
- วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย เสนอให้ยาฟ้าทะลายโจรเป็นสินค้าควบคุมราคา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็นในภาวะฉุกเฉิน
- วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้มีการนำอาหารสมุนไพร ได้แก่ กระชาย ขิง ขมิ้นชัน มะขามป้อม และอื่น ๆ มาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ สร้างเสริมภูมิคุ้มกันในรูปแบบของอาหาร และปริมาณการบริโภคแบบอาหาร เพื่อความปลอดภัยของการบริโภค