ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยส่งออกไทยก.ค.64 โตสุดในรอบ 11 ปีที่ 20.27%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยในเดือนกรกฎาคม2564 ตัวเลขการส่งออกไทยยังคงขยายตัวแข็งแกร่งต่อเนื่องที่ 20.27% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี และสูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 19.7% ยอด 7 เดือนแรกของปี 2564 ตัวเลขส่งออกไทยเติบโตที่ 16.2% ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการส่งออกไทยปีนี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 12.4% จาก 11.5%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ในเดือนกรกฎาคม 2564 ตัวเลขการส่งออกไทยยังคงขยายตัวแข็งแกร่งต่อเนื่องที่ 20.27%YoY ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี และสูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 19.7% โดยใน 7 เดือนแรกของปี 2564 ตัวเลขส่งออกไทยเติบโตที่ 16.2% ซึ่งเติบโตไปในทิศทางเดียวกับตลาดในภูมิภาคแต่ระดับของการเติบโตยังคงต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ที่สามารถขยายตัวได้มากกว่า 20% ทั้งนี้ เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกใน 7 เดือนแรกของปีขยายตัวได้ที่ 21.47% ซึ่งสะท้อนภาคเศรษฐกิจจริงที่เติบโตอย่างชัดเจน
อัตราการฉีดวัคซีนที่รวดเร็วส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญของไทยหลายประเทศกลับสู่ภาวะปกติช่วยหนุนภาคการส่งออกของไทย โดยในเดือนก.ค. การส่งออกไปในประเทศคู่ค้าสำคัญเติบโตแข็งแกร่งในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปสหรัฐฯ (+22.2%) ที่ขยายตัวได้ 14 เดือนต่อเนื่อง รวมถึงสหภาพยุโรป 28 (+20.4%) ขยายตัวได้ 5 เดือนติดต่อกัน
ในฝั่งของเอเชียแม้ว่าสถานการณ์การระบาดจะยังมีแนวโน้มยืดเยื้อแต่การส่งออกไปจีนขยายตัวได้ถึง 41.0% ด้านญี่ปุ่นแม้จะเผชิญกับการประกาศภาวะฉุกเฉินภายในประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับสูง แต่การส่งออกไปญี่ปุ่นยังสามารถขยายตัวได้ 9 เดือนติดต่อกันโดยในเดือนก.ค.ขยายตัวที่ 23.3% เมื่อพิจารณารายสินค้าพบว่าสินค้าหลักที่หนุนภาคการส่งออกยังคงเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป
อย่างไรก็ตาม คลัสเตอร์ติดเชื้อจากตลาดอาหารทะเลยังคงส่งผลกระทบการส่งออกต่ออาหารทะเลสด แช่เย็น แช่แข็งกระป๋องและแปรรูป แต่ภาครัฐได้เข้ามาแก้ไขปัญหาโดยดำเนินนโยบายในการสร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทยปลอดโควิด เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของภาคการผลิตยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องเช่นกัน ขณะที่กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าได้กลับมาต่อเนื่องสะท้อนจากการขยายตัวของสินค้าสิ้นเปลืองที่มีราคาสูง เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ)
ในช่วงที่เหลือของปี 2564 ภาคการส่งออกที่เป็นปัจจัยหลักในขับเคลื่อนเศรษฐกิจเริ่มเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งปัจจัยภายนอกประเทศที่เริ่มมีการเผชิญการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่มีแนวโน้มรุนแรง ขณะที่ปัจจัยในประเทศเองภาคการผลิตเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการแพร่ระบาดในโรงงาน โดยหากการแพร่ระบาดยังคงไม่สามารถควบคุมได้ อาจส่งผลให้เกิดการปิดโรงงาน และมีผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่การผลิต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมายังภาคการส่งออกของไทย
จากข้อมูลล่าสุดการระบาดในคลัสเตอร์โรงงานมีการกระจุกตัวอยู่ใน 5 อุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมโลหะ และอุตสาหกรรมพลาสติก อย่างไรก็ดี โครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) น่าจะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้บ้าง
อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ และยุโรป ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า น่าจะยังส่งผลให้การส่งออกไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับประมาณการส่งออกของไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 12.4% จาก 11.5%