สกสว.เปิดประชุมเสวนา ตั้งเป้า ววน. ขับเคลื่อนไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนในปี 2025
สกสว.เปิดประชุมเสวนา ตั้งเป้า ววน. ขับเคลื่อนไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนในปี 2025
เมื่อวันที่25 สิงหาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรรม (สกสว.) จัดการประชุมเสวนาผ่านระบบออนไลน์ในเรื่อง “โอกาสและความท้าทายของ ววน. เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนในปี 2025”ภายใต้ “โครงการการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สาขายานยนต์สมัยใหม่” โดยระดมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าระดับแนวหน้าของประเทศ ประกอบด้วย คุณชาญยุทธ ฉายาวัฒนะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) , คุณรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน), ดร.วิกรม อาฮูยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอดิสัน มอเตอร์ จำกัด, ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) ,ดร.เอกรัตน์ ไวย์นิตย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ดร.นุวงศ์ ชลคุป ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ร่วมเวทีเสวนาในครั้งนี้
รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า จากการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เกิดการก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีพันธกิจสำคัญ 5 ประการ ประกอบด้วย 1) จัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และริเริ่มแผนงานที่สำคัญสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บท นโยบายภาครัฐ
2) จัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ให้กับหน่วยงานในระบบ ววน. 3) ส่งเสริม สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานในระบบ ววน.
4) ส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และ 5) ติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ ของหน่วยงาน และการติดตามประเมินผลลัพธ์ ผลกระทบของงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ
โดยปัจจุบัน สกสว. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนด้าน ววน. ปี พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งมีหนึ่งในจุดมุ่งเน้นคือประเด็นเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นแผนด้าน ววน. จึงมีจุดมุ่งเน้นสำคัญตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์ทางด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนภายในปี พ.ศ.2570 เป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญรวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ด้านยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเปิดโอกาสให้วิสาหกิจขนาดย่อม (SMEs) สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าว โดย สกสว. ได้ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งสามารถสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านยานยนต์ไฟฟ้า และร่วมกับภาคเอกชนโดยตรง นอกจากนี้ สกสว. ยังได้จัดตั้งหน่วยบูรณาการยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (SAT: Strategic Agenda Team) ในด้านยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อร่วมศึกษาข้อมูลองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนระบบ ววน. ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์การพัฒนาตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
ทางด้าน ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) เปิดเผยว่า ภาพรวมการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันมีอัตราการเติบโตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนการพัฒนาแบตเตอร์รี่ที่ทั่วโลกมีแนวโน้มความต้องการในอัตราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตแบตเตอร์รี่
ซึ่งการขับเคลื่อนประเด็นนี้จำเป็นต้องอาศัยการลงทุนด้าน ววน. อย่างตรงจุด เพื่อจะช่วยเสริมศักยภาพของประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดสู่การพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในมิติต่าง ๆ นอกจากนี้ประเทศไทยยังต้องการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย
อย่างไรก็ตามการเสวนาในครั้งนี้วิทยากรจากภาคเอกชนได้นำเสนอถึงความคืบหน้าการลงทุนด้านการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ทั้งรถยนต์นั่ง รถบัส รถมอเตอไซค์ และเรือไฟฟ้า โดยภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการทำงานวิจัยและพัฒนา และที่สำคัญคือการพัฒนากำลังคนเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยวิทยากรต่างมีความเห็นตรงกันว่า การตั้งเป้าขับเคลื่อนไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนในปี 2025 ถือเป็นโจทย์ที่ท้ายในการพัฒนาประเทศ โดยการจะขับเคลื่อนได้ตามเป้าหมายนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขับเคลื่อนด้าน ววน. จะเป็นการหนุนเสริมสำคัญที่จะพาประเทศสู่เป้าหมายการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต