ซินโครตรอนไขปริศนาลูกปัดโบราณจากหลุมศพ
ลูกปัดจิ๋วโบราณจากหลุมศพขนาด 2-5 มิลลิเมตร ที่มองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็นรายละเอียด ยังซ่อนเรื่องราวในอดีตให้แกะรอย ผลจากการวิเคราะห์ลูกปัดจากยุคทราวดีในหลุมศพ 4 แห่งที่ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.สระแก้ว โดยใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์ด้วยเทคนิคอันซับซ้อน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบลายแทงบ่งชี้แหล่งที่มาของลูกปัด ตลอดจนยุคสมัยและเทคโนโลยีที่ใช้
รศ.ดร.เสรีวัฒน์ สมินทร์ปัญญา จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะวิจัย ได้นำลูกปัดโบราณ ขนาดเพียง 2 – 5 มิลลิเมตรที่มีสีสันแตกต่างกัน 5 สีจากยุคทราวดี ที่ขุดพบในหลุมศพ 4 แห่งที่ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.สระแก้ว มาวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอนจากระบบลำเลียงแสงที่ 1.1W ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดยใช้เทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ (XRF) วิเคราะห์ธาตุองค์ประกอบ และใช้เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ (XAS) ในช่วง XANES เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติทางเคมีของธาตุเจือที่อาจจะส่งผลถึงสีที่แตกต่างกัน
ผลจากการวิเคราะห์พบว่าอัตราส่วนของธาตุองค์ประกอบสามารถช่วยบ่งชี้แหล่งที่มาของลูกปัดได้ นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงเลขออกซิเดชันของธาตุเจือเข้ากับสีที่ปรากฏได้ ซึ่งข้อมูลจากการวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอนจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์อธิบายได้ว่า ลูกปัดดังกล่าวมีที่มาจากแหล่งใด ทั้งยังเชื่อมโยงถึงเทคโนโลยีและยุคสมัยที่ผลิตขึ้นมา เนื่องจากวัสดุตั้งต้นและกระบวนการผลิตที่ต่างกันทำให้ปริมาณสัดส่วนของธาตุและคุณสมบัติทางเคมีแตกต่างกัน
งานวิจัยนี้เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าแสงซินโครตรอนช่วยไขปริศนาและฉายภาพของอดีตได้ แม้ตัวอย่างที่นำมาศึกษานั้นจะมีขนาดเล็กและมีปริมาณธาตุเจือเพียงเล็กน้อย โดยงานวิจัยนี้ยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Scientific Reports ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติด้วย