กรมควบคุมโรคเตือน “กินหมูดิบ เสี่ยงไข้หูดับ” เสี่ยงดับ-หูหนวกถาวร
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการรับประทานหมูดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ อาจทำให้หูหนวกถาวร อาจถึงขั้นเสียชีวิต
วันนี้ (11 กันยายน 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากกรณีพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หูดับ 5 อำเภอ ในจังหวัดน่านเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 นั้น กรมควบคุมโรค ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 (สคร. 1) จ.เชียงใหม่ มอบหมายให้ทีมปฏิบัติการลงสอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน เบื้องต้นพบผู้ป่วย 12 ราย อายุ 50-86 ปี เป็นเพศชาย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย และมีอาการหนักต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 2 ราย เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง ทุกรายมีประวัติรับประทานเนื้อหมูดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ ที่ซื้อมาจากรถเร่วิ่งขายในหมู่บ้าน ผลการตรวจเลือดพบการติดเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) หรือที่เรียกกันว่า ไข้หูดับ สำหรับกลุ่มเสี่ยงโรคนี้และจะมีอาการป่วยรุนแรง เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตวาย โรคมะเร็ง และโรคหัวใจ
ด้านนายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนในปีนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 5 กันยายน 2564 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หูดับ จำนวน 115 ราย เสียชีวิต 2 ราย จึงเร่งป้องกันปัญหาด้วยการให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา แพร่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน และน่าน
นายแพทย์สุเมธ กล่าวอีกว่า เชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส จะอยู่ที่โพรงจมูกและอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย และสามารถติดเชื้อสู่คนได้ ทั้งนี้ หลังติดเชื้อ 1-3 วัน จะมีอาการป่วยที่พบได้บ่อย คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการสำคัญ เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ คอแข็ง อาเจียน สับสน ส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวกถาวร หากมีอาการดังกล่าว ต้องรีบพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูให้แพทย์ทราบ จะช่วยให้วินิจฉัยและรักษาได้อย่างรวดเร็ว สำหรับวิธีการป้องกันโรคไข้หูดับ มีดังนี้
1.ควรบริโภคอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ทำสดใหม่ โดยเฉพาะเนื้อหมู ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ เช่น ตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ควรแยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน และไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน
2.ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อผ้าที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง โดยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ขอบคุณภาพประกอบจาก-www.rajarithi.go.th