กรมชลฯ ลงพื้นที่โครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง จ.หนองบัวลำภู-อุดรธานี-หนองคาย
กรมชลฯ ลงพื้นที่โครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย
วันที่ 13 ก.ย. 2564 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน พร้อมสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร โครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กรมชลประทานดำเนินการพัฒนาโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง และพิจารณาอนุมัติงบประมาณในปี 2562 โดยที่ผ่านมากรมชลประทานได้เล็งเห็นปัญหาและหาแนวทางแก้ไขมาโดยตลอด จำเป็นต้องมีการวางแผนแก้ไขเพื่อบรรเทาปัญหาอย่างเป็นระบบ เนื่องจากลุ่มน้ำห้วยโมงเป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ ประกอบด้วย ลุ่มน้าย่อย 10 ลุ่มน้ำ และครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด จำเป็นต้องใช้ระบบบริหารจัดการ การคาดการณ์ และแนวทางการพัฒนาใหม่ ที่สามารถบูรณาการการแก้ไขปัญหาทั้งปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ และลดผลกระทบต่อสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดำเนินการ เพื่อให้ครอบคลุมการแก้ปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยน้ำโมงในทุกๆด้าน จึงควรมีการศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง เพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง และทำการศึกษาความเหมาะสมโครงการที่มีความสำคัญที่สุดตามลำดับการศึกษาแผนหลัก พร้อมทั้งการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนกรกฏาคม 2563 – เดือนมิถุนายน 2564 กรมชลประทาน ได้ศึกษาและประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการฯ พร้อมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น มีการจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการฯ การประชุมกลุ่มย่อย กิจกรรมสื่อสัญจร เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วน และร่วมกันบูรณาการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกด้าน
“สำหรับ โครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย ทางกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้เสนอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางระดับลุ่มน้ำเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ (ภัยแล้ง) และอุทกภัย ในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง จำนวน 23 โครงการ งบประมาณ 6,219.14 ล้านบาท แบ่งเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู 7 โครงการ จังหวัดอุดรธานี 8 โครงการ และจังหวัดหนองคาย 8 โครงการ
ต่อมาได้คัดเลือกโครงการที่มีความสำคัญลำดับสูงเพื่อศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 โครงการ คือ โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำห้วยทอน (ตอนบน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านบางกอกน้อย ตำบลด่านศรีสุข อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย , โครงการปรับปรุงลำน้ำห้วยโมง (ระยะทางยาว 81.57 กม.) พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำกลางคลอง 2 แห่ง และโครงการผันน้ำห้วยลาน-ห้วยคุก ระยะทาง 21.80 กม. ซึ่งโครงการดังกล่าวจะส่งผลทำให้ประชาชนในพื้นที่มีแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูกเพียงพอตลอดทั้งปีลดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง รวมทั้งมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย” นายเฉลิมเกียรติ กล่าว