พลิกหน้าประวัติศาสตร์วงการวิจัย หลัง พรบ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ฯ ผ่านฉลุย ! สกสว. เดินหน้าพัฒนา (ร่าง) กฎหมายลูก
หลังที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติเห็นชอบ ร่างพรบ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา สกสว. เดินหน้าเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) กฎหมายลูก พร้อมสนับสนุนนักวิจัยไทยสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวในเวทีประชุม รับฟังความคิดเห็น “(ร่าง) กฎหมายลำดับรองของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….” ครั้งที่ 2 ว่า การเปิดพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็น “(ร่าง) กฎหมายฯ ลำดับรอง จำนวน 9 ฉบับ วันนี้ ดำเนินการสืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา การรับฟัง แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันในมุมมองจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากหน่วยบริหารจัดการทุน สถาบันวิจัยและพัฒนา ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่หลากหลาย จะส่งผลให้กฎหมายฉบับนี้ เกิดความสมบูรณ์ครบถ้วน ตามเจตนาของการผลักดันการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม โดยหากกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับแล้ว จะกำหนดความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากหน่วยงานให้ทุน ไปยังผู้รับทุนโดยมีกฎหมายรองรับ หน่วยงานให้ทุนของประเทศไทยมีจะแนวปฏิบัติเป็นทิศทางเดียวกัน รวมทั้งเกิดกลไกในการสร้างสมดุลระหว่างสิทธิของผู้รับทุนที่เป็นเจ้าของผลงานวิจัย ประโยชน์ของประชาชนและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจ สกสว. ที่มีเจตนารมณ์สำคัญในการสร้างระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมที่ดีของประเทศ ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมของนักวิจัยไทย
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า วานนี้ ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 7 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .… ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 494 เสียง ซึ่งถือเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์วงการวิจัยครั้งสำคัญ หลังจากนี้ จะเข้าสู่กระบวนการ รอโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยและประกาศพระราชกิจจานุเบกษา ก่อนมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน ช่วงเวลานี้จึงถือเป็นเวลาสำคัญของการเร่งเดินหน้าจัดทำอนุบัญญัติ หรือกฎหมายลูกบทให้เรียบร้อย หลังจากที่ทาง สกสว. และหน่วยงานพันธมิตร เตรียมพร้อมและดำเนินการมาเป็นระยะเวลากว่า 8 เดือน
ทั้งนี้ (ร่าง) กฎหมายลูกที่มีการขอรับฟังนำเสนอในวันนี้ ต่างเป็นกฎหมายลูกที่สำคัญในการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ อาทิ (ร่าง) กฎหมาย กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจัดสรรรายได้ให้แก่นักวิจัย หลักเกณฑ์ของผู้รับทุนซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาในการนำรายได้ไปใช้สำหรับการวิจัยและสร้างนวัตกรรม หลักเกณฑ์โอนผลงานวิจัยและนวัตกรรม หลักเกณฑ์การขอใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมโดยบุคคลภายนอก เป็นต้น โดยหลังจากการประชุมวันนี้ คณะทำงาน จะนำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ได้ไปพัฒนาให้กฎหมายลูกฉบับต่างๆ มีความสมบูรณ์ ตามกระบวนการ เพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง