วช.เปิดบ้าน “วิจัย นวัตกรรมดีดี มีที่ วช.” ชูวิจัยเด่นแก้วิกฤตชาติ-ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่น ปี 2564 ในการแถลงข่าว “วิจัย นวัตกรรมดีดี มีที่ วช.” เป็นผลงานวิจัยที่ช่วยแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤตและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยไทย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า วช.เป็นหน่วยงานทำหน้าที่บริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ในช่วงที่ผ่านมาวช. ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบนโยบายจากกระทรวงในการสนับสนุนเรื่องของกรอบงาน แผนงาน การแก้ไขปัญหา การเพิ่มประสิทธิภาพ การวางแนวทางเชิงระบบ การนำเทคโนโลยี รวมถึงการมีส่วนร่วมในเชิงเครือข่ายกับหน่วยงานเป็นจำนวนมาก และในช่วงปี 2564 มีผลงานจำนวนมากหลัก100-1,000 เรื่องได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม และต่อยอดขยายผลให้เกิดผลสำเร็จของงานจนนำไปสู่การใช้ประโยชน์
ทั้งนี้วช. ได้วางกรอบแนวทางบริหารจัดการทุนไว้อย่างชัดเจน ภายใต้แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศของกระทรวง ในกรอบงานทั้งหมดที่วช.ดูแลอยู่ ได้มีการเดินหน้าในภาพรวมของงานที่เกี่ยวข้องกับการคลี่คลายสถานการณ์ การแก้ไขปัญหา การลดต้นทุน การเข้าไปร่วมเยียวยา โดยเฉพาะในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563-2564 มีกรอบงานที่เกี่ยวข้องในเชิงวิชาการ เชิงเทคโนโลยี รวมถึงเชิงแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น อย่างเช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ในช่วง 2ปี วช.ได้สนับสนุนการใช้วิจัยและนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งมิตินวัตกรรม และวิชาการ ตอบรับความต้องการของบุคลากรได้ถึง 3 เฟส ของการแพร่ระบาด และมีความก้าวหน้าเป็นไปตามมาตรฐานการวิจัย
วช. จึงนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้มาถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้แก่สังคม เพื่อช่วยแก้ปัญหา สร้างโอกาสช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19
สำหรับผลงานวิจัยและนวัตกรรมดีดี บางส่วนที่ วช.ให้การสนับสนุนและนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมใน 10 ด้าน ได้แก่
1.ด้านโควิด -19 อาทิ ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เว็บไซต์ที่นำเสนอข้อมูลทางวิชาการ รวมถึงงานวิจัยทางการแพทย์ต่าง ๆ ในรูปแบบสื่อ Infographic เพื่อถ่ายทอดข้อมูลความรู้ สร้างความเข้าใจกับประชาชน ได้รู้เท่าทันสถานการณ์ โควิด-19 ด้วยข้อมูลที่รวดเร็ว ฉับไว ทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ ประกอบด้วยสถานการณ์รายวัน งานวิจัยและนวัตกรรมโควิด-19 ข้อแนะนำประชาชนและข้อมูลวิเคราะห์ทางวิชาการ
วช.ร่วมส่งเสริมการพัฒนาวัคซีน mRNA Vaccine เพื่อป้องกันการรักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 วัคซีน ChulaCov19 ของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นชนิด mRNA สร้างจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติใช้ในภาวะฉุกเฉินแล้วในหลายประเทศกว่า 100 ล้านโดส ผ่านการทดลองในลิงและหนูแล้ว พบว่า ลดอาการเจ็บป่วยได้ 100% และลดจำนวนเชื้อที่ใส่เข้าไปในจมูกและปอดได้มากกว่า 10,000,000 เท่า อยู่ระหว่างการทดลองในคน โดยทีมวิจัยคาดว่าจะสำเร็จและนำไปใช้ได้ในเดือนเมษายน 2565
และชุดหน้ากาก PAPR ฝีมือนักวิจัยไทย ชุดเกราะพร้อมสู้โควิด-19 ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะ พร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง(PAPR) ผลงานของนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถใช้งานซ้ำได้หลายครั้ง คุณภาพและประสิทธิภาพเทียบเท่าของต่างประเทศ ราคาประหยัด ต้นทุนอยู่ที่ชุดละ 9,800 บาท โดยมีราคาลดลงจากราคาที่ขายในตลาด 2-3 เท่า ราคานำเข้าจากต่างประเทศชุดละ 30,000 -40,000 บาท ส่งมอบให้เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHostNet) กระทรวงสาธารณสุข และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมาวช.ได้สนับสนุนชุดPAPR โรงพยาบาลต่าง ๆในกรุงเทพฯและปริมณฑล แห่งละไม่ต่ำกว่า 3,000 ชุดเพื่อให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยและลดการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้ยังมีผลงานเครื่องผลิตละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สำหรับฆ่าเชื้อ ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคในห้องขนาดใหญ่และฆ่าเชื้อโรคในตู้ฆ่าเชื้อแบบปิด นวัตกรรมเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ มีระบบกรองอากาศประสิทธิภาพสูงใช้สำหรับเข็นผู้ป่วยขึ้นรถพยาบาลหรือรถฉุกเฉิน เครื่องฟอกอากาศผลิตออกซิเจนบวก-ลบเพื่อทำลายไวรัสและแบคทีเรียในอากาศ การถอดรหัสพันธุกรรมและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศไทย โดยมีศ.ดร.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ซึ่งการวิจัยพบว่า ทั่วโลกมีโควิด-19 อยู่ 8 สายพันธุ์หลักและในไทยมี 6 สายพันธุ์ และห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ รับมือโควิด-19
2.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข อาทิ ชุดตรวจปัสสวะสำเร็จรูปสำหรับตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับในชุมชน แผ่นดามกระดูกและสกรูทางออร์โธปิดิกส์ นวัตกรรมชุดที่นอนยางพารา ที่มีความนุ่ม ยืดหยุ่น ระบายอากาศได้ดี ไม่สะสมฝุ่นและเชื้อโรค ซึ่งมีการส่งมอบให้โรงพยาบาลไปแล้วเกือบ 2,000 ชุด
3.ด้านการรองรับสังคมสูงวัย อาทิ เตียงพลิกตะแคง ป้องกันแผลกดทับ และเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของอว.ในยุทธศาสตร์ Quick Win สร้างความรู้ภาคการเกษตรสมัยใหม่
4.ด้านการเกษตร อาทิ ยืดอายุ “มะม่วงน้ำดอกไม้” ส่งออกต่างประเทศ และยืดอายุทุเรียนเพื่อการส่งออก
5.ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ เครื่องตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 และการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชน 6.ด้านสัตว์เศรษฐกิจ อาทิ ธนาคารปูม้าชุมชน เพื่อความยั่งยืน และไก่พื้นเมือง และไก่ลูกผสมพื้นเมือง สู่เชิงพาณิชย์ วิจัยปรับปรุงสายพันธุ์ “ไก่ลิกอร์” ไก่พื้นเมืองลูกผสม สายพันธุ์ใหม่
7.ด้านการศึกษา อาทิ ระบบซอฟต์แวร์โดรนแปรอักษร รายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้านเทคโนโลยี AI อาทิ ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัย (AiMASK)
8.ด้านเศรษฐกิจฐานราก อาทิ มังคุดวิจัย และเศรษฐกิจฐานรากภาคเหนือตอนบน หวังเพิ่มมูลค่าหัตถกรรมชุมชนในยุค New Normal (KOYORI)
ด้านการพัฒนาสังคมและชุมชน อาทิ พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสาธารณสุขและแกนนำชุมชน เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 บริเวณพื้นที่ชายแดน และสร้างตำบลต้นแบบ 15 จังหวัด ผ่านปราชญ์เพื่อความมั่นคง และเครือข่ายภาคประชาชน ฯลฯ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวในการนำเสนอในช่วงท้ายว่า วช. ให้ความสำคัญในการช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 โดย วช. จะมุ่งเน้นผลงานงานวิจัยและนวัตกรรมเชิงสุขภาพให้หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และมุ่งเน้นผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ส่งเสริมอัตลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น เพื่อการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และจะผลักดันให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งหมดนี้ วช. ได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ในโอกาสหน้า วช.จะฉายภาพงานวิจัยและนวัตกรรมดีดี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่นักวิจัย และนักประดิษฐ์ไทย ในการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตประชาชนต่อไป