สกสว. จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ หนุนแวดวงวิจัย ประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ-สังคมผลงานวิจัยโดยใช้เทคนิค SROI
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดย สำนักกลยุทธ์แผนและงบประมาณ ด้านการวิเคราะห์แผนและงบประมาณ จัดการประชุมวิชาการระดับชาติด้าน SROI ครั้งที่ 1 ภายใต้ธีม“Financial Proxy and Best Practice of SROI” ในรูปแบบการประชุมออนไลน์เพื่อส่งเสริมให้นักวิชาการที่มีความสนใจด้านการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของผลงานวิจัย รวมถึงด้านการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยใช้เทคนิคการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment) หรือ SROI ในการประเมินมูลค่าผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคม ได้นำเสนอผลงาน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงวิชาการร่วมกัน
โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ปัจจุบัน สกสว. ให้ความสำคัญกับการวัดและประเมินผลกระทบจากการลงทุนในการวิจัยและนวัตกรรม ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทำให้สามารถย้อนทวนและและวิเคราะห์การทำงานได้ว่า การลงทุนที่ผ่านมาถูกทิศทางหรือไม่ นอกจากนี้การวัดและประเมินผลดังกล่าว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนในการวิจัยและนวัตกรรม ทั้งก่อนและหลังการดำเนินการโครงการได้อีกด้วย
ในขณะที่ ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน รองผู้อำนวยการ สกสว. และผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์แผนและงบประมาณ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน สกสว. เริ่มจัดทำกรอบงบประมาณแบบ Impact -based Budgeting ประกอบการจัดสรรงบประมาณตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปี 2566 – 2570 โดยการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนด้าน ววน. เป็นส่วนหนึ่งในการให้น้ำหนักสำหรับการจัดทำกรอบงบประมาณรายแผนงาน รวมถึงจำเป็นสำหรับการจัดทำคำของบประมาณด้านการวิจัยแบบทุนอุดหนุนต่อเนื่อง (Multi-year) ระยะเวลา 3-5 ปี ซึ่งมุ่งหวังให้การดำเนินโครงการมีผลผลิต ผลลัพธ์และผลกระทบที่ชัดเจน
ต่อมาการจัดการประชุมวิชาการมีการบรรยายจาก Keynote Speaker ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค การประเมินผลตอบแทนทางสังคม หรือ SROI ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร. อารี วิบูลย์พงศ์ รองศาสตราจารย์ ดร. สุวรรณา ประณีตวตกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา และอาจารย์เศรษฐภูมิ บัวทอง ร่วมให้แนวคิด ข้อมูล ความรู้ และแนวทางการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) ให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวน 625 คนจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ
เนื้อหาการบรรยายโดยสรุปพบว่า จุดเด่นของแนวทางการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) คือ การเป็นเครื่องมือที่มีขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางสำหรับการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของผลงานวิจัย สามารถให้ตัวเลขที่สามารถนำไปประกอบการตัดสินใจให้ทุนวิจัยได้ รวมถึงการออกแบบแผนงานวิจัยและโครงการวิจัยที่เชื่อมโยงผลกระทบปลายทางมาสู่กิจกรรมการวิจัยและการพัฒนาที่จะสามารถสร้างผลกระทบเหล่านั้นให้เกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน การประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) ก็ยังคงมีจุดอ่อนในหลาย ๆ ด้าน กล่าวคือไม่มีสูตรสำเร็จในการประเมิน จำเป็นต้องคำนึงถึงบริบท และตัวเลขผลการประเมินที่ออกมานั้นควรต้องนำไปประกอบกับปัจจัยด้านอื่น ๆ ก่อนการตัดสินใจจัดสรรงบประมาณ อีกทั้งจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมผู้ประเมินให้มีทักษะความชำนาญในการใช้เครื่องมือนี้ให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเชื่อว่าสามารถเป็นไปได้ด้วยการสะสมประสบการณ์รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในเครือข่ายของผู้ประเมิน
นอกจากนี้ในช่วงบ่ายของการจัดงานการประชุมวิชาการ ยังมีการนำเสนอบทความด้านการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของผลงานวิจัย ด้วยเทคนิค SROI โดยแบ่งออกเป็น 3 ห้อง คือ
ห้องที่ 1 SROI for All นำเสนอผลการประเมินโครงการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การจัดการขยะและของเสีย การพิทักษ์ความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงการเสนอค่าตัวแทนทางการเงินเพื่อคำนวณมูลค่าของชีวิต
ห้องที่ 2 SROI on Advanced Technologies นำเสนอผลการประเมินโครงการที่ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการพัฒนาเมือง Startups และ SMEs รวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในด้านการเกษตร การแพทย์และโลจิสติกส์ การพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า รวมถึงการวิจัยด้านการแพทย์และชีววัตถุ
ห้องที่ 3 Community-based SROI นำเสนอผลการประเมินโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งเข้าถึงประชาชนทุกวัย เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน มีความร่วมมืออย่างบูรณาการในการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชน สถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจ
ในลำดับสุดท้ายของการประชุมวิชาการ
รศ.ดร.คมสัน สุริยะ รองผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์แผนและงบประมาณ ด้านการวิเคราะห์แผนและงบประมาณ ได้สรุปผลการถอดบทเรียนของการประชุมวิชาการครั้งนี้ รวมถึงได้กล่าวถึงความท้าทายในการพัฒนาศาสตร์ด้านการประเมิน ซึ่งสามารถสรุปเนื้อหาที่เห็นพ้องกันจากนักวิชาการ วิธีการประเมินแบบ Triple S ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประเมินทำงานได้ง่ายขึ้นในการประเมินด้วยเทคนิค SROI ตัวเลขที่สามารถใช้อ้างอิงผลการคำนวณ SROI และสิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องมีการพัฒนาเชิงวิชาการต่อไปในอนาคต พร้อมกับกระตุ้นให้ผู้ร่วมการประชุมได้ใช้การประเมินผลงานวิจัยด้วยเทคนิค SROI เป็นโอกาสในการแสดงออกซึ่งคุณค่าของผลงานวิจัยที่ได้คิดและได้ทำ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการลงทุนด้าน ววน. มีความคุ้มค่าและสามารถนำความเจริญรุ่งเรืองมาให้กับประเทศชาติและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนได้จริง อันจะทำให้ประชาชนเกิดความศรัทธาในการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำไปสู่การปูพื้นฐานของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำให้กลายเป็นสังคมอุดมปัญญาเพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้กับคนไทยสืบไป