อว. มอบผลิตภัณฑ์บาล์มตะไคร้ ชุมชนจ.พระนครศรีอยุธยา-สุพรรณบุรี รักษาโรคน้ำกัดเท้า ช่วงน้ำท่วม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ส่งมอบผลิตภัณฑ์บาล์มตะไคร้ ให้ผู้แทนชุมชน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี นำไปใช้รักษาโรคเท้าน้ำกัด ในช่วงสถานการณ์อุทกภัย โดยมี ศาสตราจารย์ พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี ณ อาคาร สวทช. (โยธี) ชื่นชม อว.มีทั้งคนเก่งและทำงานได้เร็ว หนุนนโยบายอว.พารอดด้วยความรู้ วิชาการและเทคโนโลยี
ศาสตราจารย์ พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)กล่าวว่า กระทรวงอว.สามารถทำงานเพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศได้ทั้งเพื่อรับมือกับปัญหาเร่งด่วนหรือปัญหาเฉพาะหน้า ระยะปานกลางและระยะยาว และโครงการ “อว.พารอด” ที่ดำเนินการมากว่า 1 เดือน ไม่ได้เน้นแจกสิ่งของจำเป็นแก่ประชาชนที่มีกระทรวงอื่นทำอยู่แล้วและทำได้ดีกว่า แต่อว.พารอดด้วยความรู้ วิชาและเทคโนโลยี
พร้อมกันนี้ได้แสดงความชื่นชม ผลงานบาล์มตะไคร้ที่นำมอบแก่ชุมชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมวันนี้ เป็นผลงานที่ทีมนักวิจัยวว.ใช้ระยะเวลาพัฒนาน้อยมากเพียง3 วันเท่านั้น แสดงให้เห็นว่า อว.ไม่ใช่เพียงมีคนเก่งเท่านั้น แต่ยังสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วด้วย จากความร่วมมือกันของ 2 องค์กร ขณะเดียวการทำงานยังแสดงถึงความใกล้ชิดของหน่วยงานอว.กับชุมชน ที่ให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมช่วยบรรจุบาล์มตะไคร้
สำหรับโรคผิวหนังที่ไทยเป็นมากที่สุดเป็นโรคที่เกิดจากความชื้น เพราะไทยอยู่เขตร้อนชื้น และในสถานการณ์น้ำท่วมยิ่งมีความชื้นมาก การใช้เทคโนโลยีและใช้ความรู้ที่มีอยู่ พร้อมเงินสนับสนุนทำให้ได้บาล์มตะไคร้มาช่วยบรรเทาปัญหาแก่ประชาชนในช่วงยากลำบากได้
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยประสบเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นประจำทุก ๆ ปี กินระยะยาวนานหลายเดือน ประชาชนต้องประสบกับโรคน้ำกัดเท้า ที่ผ่านมา วว. โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาเป็นเวลากว่า 40 ปี
จากงานวิจัยการใช้ประโยชน์จากพืชหอม ได้สกัดน้ำมันหอมระเหยหลายชนิดนำมาทดสอบฤทธิ์ในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ พบว่า น้ำมันตะไคร้ที่มีองค์ประกอบสำคัญ คือ สารซิทรัล (Citral) มีคุณสมบัติสามารถต้านเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนังได้ เหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในการรักษาเชื้อราบนผิวหนัง และได้ทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ผสมน้ำมันตะไคร้ นำไปทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อราพบว่าได้ผลดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด วว. จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์บาล์มตะไคร้จากสารสกัดน้ำมันตะไคร้เพื่อรักษาโรคน้ำกัดเท้า ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย นอกจากนี้ยังสามารถรักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา อื่น ๆ เช่น กลาก เกลื้อนได้อีกด้วย โดยวันนี้นำมามอบให้ชุมชนทั้ง2จังหวัดเป็นจำนวน 3,000 ขวด
นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. และผู้วิจัยกล่าวเสริมว่า ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาคล้ายขี้ผึ้ง มีวาสลีนเป็นส่วนผสม ซึ่งช่วยเคลือบผิวป้องกันน้ำได้ อีกทั้งสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างขอทุนสนับสนุนจากวช.เพื่อไปถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ชุมชนต่าง ๆ ต่อไป โดยการผลิตไม่ยุ่งยาก สิ่งสำคัญอยู่ที่ปริมาณส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ ซึ่งได้มีการวิจัยปริมาณน้ำมันหอมระเหยที่ส่งผลต่อการฆ่าเชื้อราได้ผลดี ขณะที่บริษัทหรือเอสเอ็มอีที่สนใจต่อยอดผลิตภัณฑ์สามารถติดต่อมาได้
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีภารกิจสำคัญในการการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่นักวิจัย หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ในประเด็นสำคัญของประเทศ มุ่งเน้นการสร้างผลงานวิจัย ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาได้จริงอย่างทันท่วงที ทั้งเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคมและชุมชน และเชิงนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ โดยก่อนหน้านี้วช.รับนโยบายมีบทบาทสำคัญคลี่คลายปัญหาประเทศในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้ ประเทศไทยต้องประสบสถานการณ์น้ำท่วม และยังคงมีจังหวัดที่น้ำท่วมขังสูง ยาวนานหลายสัปดาห์ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ต้องเดินลุยน้ำและแช่น้ำเป็นเวลานาน จนเริ่มมีอาการของ“โรคน้ำกัดเท้า” การป้องกันโรคน้ำกัดเท้าโดยรักษาความสะอาด และทำให้เท้ามีความชื้นน้อยที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ทั้งนี้วช.เล็งเห็นว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนา โดยนำสมุนไพรไทยมาสกัดแล้วพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับป้องกันและรักษาโรคและอาการต่าง ๆ ได้ วช.จึงได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัย จนนำมาสู่การใช้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์บาล์มตะไคร้ เพื่อรักษาน้ำกัดเท้า
สำหรับการส่งมอบผลิตภัณฑ์บาล์มตะไคร้ในวันนี้ ได้มีตัวแทนชุมชนเข้ารับมอบ ประกอบด้วย ผู้ใหญ่สมพร ธัญญาวุฒิ หมู่บ้านหาดทราย หมู่ที่ 3 ต.พระยาบันลือ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา สท.สุนทร กำเสียงใส ผู้แทนหมู่บ้านศาลาแดง หมู่ที่ 11 ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี อาจารย์พูนศักดิ์ ทิพย์ศิริ ผู้แทนหมู่บ้านอ่าวหม้อแกง หมู่ที่ 10 อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี นายพันธกานต์ ปทุมวัน ผู้แทนประชาชนใน อ.ท่าเรือ อ.เสนา อ.บางบาล อ.มหาราช อ.บางประหัน จ.พระนครศรีอยุธยา และผู้ใหญ่อารุณี วงศ์หาญ ผู้แทนบ้านเกาะกลาง หมู่ที่ 3 ต.ลุมพลี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
ดร.วิภารัตน์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้อีกงานหนึ่งที่วช.รับนโยบายจากท่านรัฐมนตรีอว.ในการคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ และแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ ในการนี้ได้นำต้นฟ้าทะลายโจรจากโครงการสร้างรายได้แก่เกษตรกรคืนถิ่น มอบให้กับผู้แทนชุมชนไปด้วยพร้อมกันจำนวน500 ต้น