วช. เสริมแกร่ง นวัตกรรมปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมเห็ดป่าไมคอร์ไรซา พื้นที่ต้นแบบ จ.แพร่
วช. ร่วมวว.และ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ เสริมแกร่ง นวัตกรรมปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับเห็ดป่าไมคอร์ไรซา พื้นที่ต้นแบบ จ.แพร่ เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งสองประเภท สร้างรายได้แก่ครัวเรือนและชุมชน เกิดความมั่นคง ด้านอาหารชุมชนและระบบนิเวศป่า เผยโครงการนี้สร้างรายได้แก่เกษตรกรเพิ่มประมาณ 400 บาทต่อวันและกว่า 60,000 บาทต่อพื้นที่ 2งานต่อปี ในปี65 เล็งขยายผลทดสอบนำเห็ดปลูกร่วม “ทุเรียนภูเขาไฟ-ไม้ประดับ”
วันนี้ 31 ตุลาคม 2564 ที่ชุมชนบ้านบุญแจ่ม ต.น้ำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรม การปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา พร้อมเปิดศูนย์เรียนรู้พื้นที่ต้นแบบ “ชุมชนไม้มีค่า” เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก รับโจทย์และสนับสนุนการบูรณาการการขับเคลื่อน โครงการชุมชนไม้มีค่า ตามมติคณะรัฐมนตรี ในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้มีค่า เพื่อสร้างแหล่งอาหารและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
โดย วช. ได้นำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยสนับสนุน และขยายผลให้นักวิจัยทำงานร่วมกับพื้นที่ และหน่วยงานอื่น ๆ ดำเนินการในรูปแบบให้เกิดกล้าไม้ ขยายผลให้มีพืชทางเลือกภายใต้ร่มเงาไม้มีค่า ซึ่งการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซาเป็นหนึ่งในความเชี่ยวชาญของนักวิจัย จาก วว. ผสานการทำงานร่วมกับพี่น้องเกษตรกร โดยใช้ต้นทุนไม่สูง เป็นอาชีพที่เกษตรกรคุ้นเคย มีมูลค่าทางการตลาดสูง อีกทั้ง พื้นที่ชุมชนบ้านบุญแจ่มแห่งนี้ยังมีความเหมาะสมกับการเพาะปลูกเห็ดดังกล่าวอีกด้วย
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า วว.มีประสบการณ์ด้านการวิจัยเห็ดมานานกว่า 20 ปี เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับป่าชุมชน ในการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า ให้ชุมชนเกษตรกรรักษาและอาศัยประโยชน์จากป่า ทำให้งานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของ วว.ได้ลงสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เกิดความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและชุมชนเป็นอย่างดี นับเป็นการขับเคลื่อน BCG Model ของประเทศ เพื่อให้คนไทยได้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยและป่าที่อุดมสมบูรณ์
นายสุรพล วงศ์สุขพิศาล ปลัดจังหวัดแพร่ กล่าวว่า นวัตกรรมการปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ส่งผลให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม สร้างแหล่งอาหาร โดยการปลูกไม้เศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดป่า เข้ามาหนุนเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จนได้เป็นชุมชนแบบอย่างด้านการพัฒนา ด้วยป่าชุมชนบ้านบุญแจ่มที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำและป่าไม้เป็นอันดับต้น ๆ ของจังหวัดแพร่ นำมาสู่การเปิดศูนย์เรียนรู้พื้นที่ต้นแบบ “ชุมชนไม้มีค่า” บ้านบุญแจ่ม ในวันนี้
พร้อมกันนี้ ดร.สุจิตรา โกศล ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า พืชผักในพื้นที่ป่าเป็นแหล่งอาหาร และสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะเห็ดไมคอร์ไรซา เช่น เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตะไคล เห็ดน้ำหมาก เห็ดน้ำแป้ง เห็ดถ่าน ที่เจริญและเกิดดอกโดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างรากับระบบรากของพืชชั้นสูงแบบเกื้อกูลกัน แต่เมื่อพื้นที่ป่าต้นน้ำถูกบุกรุก ทำลาย เพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยวจนถึงขั้นวิกฤต จึงกระทบไปถึงการให้ผลผลิตของอาหารป่า และสภาพภูมิอากาศโลก ดังนั้น การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชไม้มีค่า หรือพืชเศรษฐกิจในชุมชน ไปพร้อม ๆ กับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา ในรูปแบบของวนเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสม ชุมชนลดการใช้สารเคมี สามารถสร้างรายได้ได้ทั้งรายวัน รายเดือน และรายปี จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งสองประเภท สร้างความมั่นคง ด้านอาหารชุมชนและระบบนิเวศป่า
สำหรับชุมชนบ้านบุญแจ่ม คณะนักวิจัย พบเห็ดพื้นบ้านป่าที่สามารถกินได้ จำนวน 9 สกุล 16 ชนิด เช่น เห็ดน้ำหมาก เห็ดหน้าม่อย เห็ดน้ำแป้ง ร้อยละ 75 ของเห็ดที่กินได้ จัดเป็นเห็ดไมคอร์ไรซาที่พบเฉพาะในป่าเต็ง-รัง ซึ่งมีไม้วงศ์ยาง ได้แก่ เต็ง รัง และยางพลวง คณะนักวิจัยจึงจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซา อาทิ การเตรียมกล้า การผลิตและเติมหัวเชื้อ การเตรียมพื้นที่ ตลอดจนการบำรุงดูแล ร่วมกับการปลูกไม้มีค่าในพื้นที่อย่างเหมาะสม พืชยืนต้น อาทิ ยางนา สัก ตะเคียนทอง พืชไม้ผล อาทิ ผักกูด มะม่วงหิมพานต์ กาแฟ และพืชประดับตกแต่ง เพื่อสร้าง Model ให้เกษตรกรและพื้นที่อื่นที่สนใจ
โดยทดลองนำเชื้อเห็ดตับเต่าดำ ที่เพาะเลี้ยงเส้นใยบนเมล็ดข้าวฟ่าง หรือ บนอาหารเลี้ยงเชื้อเหลว ไปใส่ลงบริเวณโซนรากของต้นหางนกยูงไทย ซึ่งเป็นพืชอาศัยของเห็ดตับเต่า อายุ 1 ปี และดูแลให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้เห็ดตับเต่าเจริญออกดอก ให้ผลผลิตจำนวนมากตลอดทั้งปี ดอกเห็ดมีขนาดโต สมบูรณ์ มีน้ำหนักระหว่าง 100-700 กรัมต่อดอก ขายได้ราคาแพง และช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต ผลผลิต และคุณภาพของพืชเศรษฐกิจให้ดีขึ้นกว่าปกติ 2-3 เท่าด้วยเช่นกัน เพราะเห็ดคอร์ไรซามีคุณสมบัติพิเศษสามารถเจริญอยู่ร่วมกับรากพืชชั้นสูงในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน เส้นใยของราทำหน้าที่ช่วยระบบรากพืชในการดูดน้ำและธาตุอาหารจากดิน โดยช่วยย่อยสลายและดูดซับธาตุฟอสเฟตให้แก่พืช ส่วนราจะได้รับสารอาหารจากพืชเพื่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะพันธ์ุไม้ยืนต้น 58 ชนิด ที่รัฐบาลส่งเสริมให้ปลูก เกษตรกรยังสามารถใช้เป็นหลักค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้
“เห็ดแต่ละชนิดจะเหมาะอยู่คู่กับพืชที่แตกต่างกันไปและสภาพละภูมิประเทศ เช่น เห็ดตับเต่า เหมาะกับเกิดคู่ไม้อาศัยจำพวกไม้ผล เช่น น้อยหน่า ตระกูลส้ม ไม้ดอกและหางนกยูงไทย เหมาะกับสภาพดินร่วนทราย ซึ่งสามารถปลูกได้ในพื้นที่ทั่วไป ส่วนเห็ดป่า เช่น เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตะไคร จะอยู่คู่กับไม้ป่า ไม้วงศ์ยาง เช่น ยางนา ยางเหียง ตะเคียนทอง พยอม สภาพภูมิประเทศจะเป็นดินลูกรัง ดินร่วนทราย ถ้าพื้นที่ไหนมีสภาพเป็นป่าเต็งรัง ที่มีพืชพวกนี้ขึ้นอยู่เห็ดพวกนี้จะขึ้นได้”
ปี65 เตรียมทดสอบนำเห็ดปลูกร่วม “ทุเรียนภูเขาไฟ-ไม้ประดับ”
ดร.สุจิตรา เปิดเผยด้วยว่า โครงการปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา ได้มีการอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี เริ่มขึ้นในปี 2562 ต่อเนื่องมาถึงปี 2564 พื้นที่ที่ได้รับการถ่ายทอดหลัก ๆ คือ จังหวัดแพร่ ทุกอำเภอในจังหวัดแพร่ ในปี 2563 ดำเนินการ 3 จังหวัด แพร่ น่านและพะเยา ปี2564 ขยายผลไป 6 จังหวัดได้แก่ เชียงราย ลำพูน นครราชสีมา สระแก้ว ศรีสะเกษ และสงขลา
ในปี 2565 ยังได้รับการสนับสนุนจากวช.ต่อเพื่อนำองค์ความรู้ไปให้หน่วยงานที่มีศักยภาพส่งต่อเกษตรกร เพื่อให้เกิดการขยายผลไปทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าจะศึกษาทดสอบความเหมาะสมของเห็ดไมคอร์ไรซากับพืชชนิดอื่น ๆ เพิ่มเติมเนื่องจากพบว่ามีการตอบสนองต่อพืชไม่ถึง 100 ชนิด เราจะศึกษาเพื่อให้ได้องค์ความรู้ต่อ โดยพืชที่จะไปศึกษาทดสอบในลำดับต้น ๆ ได้แก่ ทดสอบกับ “ทุเรียนภูเขาไฟ” ที่จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งจะทำให้แปลงสวนทุเรียนต้องปรับเปลี่ยนเป็นแปลงอินทรีย์ ต้องสร้างระบบนิเวศให้เป็นธรรมชาติเพื่อให้ได้ผลผลิตเห็ด
“เห็ดไมคอร์ไรซา นอกจากจะช่วยเร่งการเจริญเติบโตและออกผลแล้ว แต่ยังมีคุณสมบัติที่จะป้องกันเชื้ออื่นด้วย เช่น ไฟทอตเทอรา จะช่วยต่อต้านเชื้อราไฟทอปธอร่า (Phytophthora botryosa) ที่เป็นศัตรูสำคัญของทุเรียน”
นอกจากนี้ทีมวิจัยของ ดร.สุจิตรา และ ผศ.ดร.วรรณา ยังจะทดสอบพืชจำพวกไม้ประดับด้วย โดยจากที่เริ่มทดสอบไปบ้างแล้วพบว่า ช่วยให้เจริญงอกงาม ใบใหญ่ ใบดำ สีสดใส ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ส่วนพืชอื่น ๆจะเน้นส่งเสริมให้เหมาะสมกับกับท้องถิ่น พืชที่ชาวบ้านปลูกและบริโภคได้ ที่ผ่านมาพบเห็ดตับเต่าเจริญได้ดีกับต้นหางนกยูงไทย ผักหวานบ้าน พืชตระกูลส้ม มะกรูด มะนาว อินทนิน ตะแบกและอื่น ๆ
ทั้งนี้ที่ผ่านมาเกษตรกรให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชุมชนบ้านบุญแจ่มที่มีอยู่กว่า 100 ครัวเรือนให้ความสนใจเข้าอบรม การปลูกพืชร่วมกับเห็ดนอกจากสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีมีต้นไม้ในบริเวณบ้านแล้ว ในเวลา 2-3 ปีเขาจะสามารถเก็บผลผลิตได้ เกษตรกรสามารถเก็บเห็ดได้ในทุก 15-20 วัน สำหรับเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพไว้บริโภคในครัวเรือน หรือขายสร้างรายได้ประมาณ 400 บาทต่อวัน และมากกว่า 60,000 บาทต่อพื้นที่ 2 งานต่อปี โดยมีลูกค้ามาซื้อถึงที่เพราะเป็นของหายาก นอกจากนี้บ้านบุญแจ่ม มีคนมาดูงานในฐานะเป็นพื้นที่ต้นแบบ ยังทำให้เกิดอาชีพต่อเนื่องตามมา อาทิ ขายกล้าไม้พร้อมเห็ด ขายเชื้อเห็ดและการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
ในเร็ว ๆนี้ยังจะลงไปยังพื้นที่ภาคใต้ประสานงานกับคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เป็นศูนย์กลางทางภาคใต้ ซึ่งพืชในท้องถิ่นที่เหมาะจะอยู่ร่วมกับเห็ดไมคอร์ไรซา เช่น ตะเคียนทอง ยางนาเห็ดป่าขึ้นได้ ส่วนมังคุด ลองกองจะจำเพาะกับเห็ดตับเต่า
“ฝากอยากให้เกษตรกร ชุมชนหันมาปลูกต้นไม้ร่วมกับเห็ดกันเพื่อลดสภาวะโลกร้อน ขณะเดียวกันยังมีแหล่งอาหารในครัวเรือน ลดใช้เคมี ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพของทุกคนในครัวเรือนและชุมชน สำหรับผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้เพาะเห็ดร่วมกับพืชเศรษฐกิจ ต้นแบบบ้านบุญแจ่มยินดีต้อนรับตลอด หรือติดต่อทางเครือข่าย 6 จังหวัดดังข้างต้นและปีหน้าจะขยายหน่วยงานภาครัฐ เพื่อถ่ายทอดหน่วยงานในพื้นที่ให้ไปถ่ายทอดต่อเกษตรกรต่อไป” ดร.สุจิตรา กล่าวทิ้งท้าย
อนึ่งเห็ดป่าไมคอร์ไรซา มีส่วนสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ประกอบด้วย 2 ประเภท คือ เอนโดไมคอร์ไรซา และ เอคโตไมคอร์ไรซา โดยมีทั้ง กลุ่มเห็ดกินได้ กลุ่มเห็ดกินไม่ได้ และกลุ่มเห็ดพิษ ความหลากหลายของเห็ดจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยสภาพสิ่งแวดล้อม หรือ ระบบนิเวศป่าไม้
ต้นไม้อยู่ร่วมกับเห็ดเจริญงอกงาม