ทีมวิจัย สวทช. -พันธมิตร คิดวิธีสกัดสารพันธุกรรมเชื้อโควิด-19 จากตัวอย่างแบบง่าย สำเร็จ! ถูกกว่านำเข้า 2 เท่า
ทีมวิจัย สวทช. -พันธมิตร คิดวิธีสกัดสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 จากตัวอย่างแบบง่าย สำเร็จ! ราคาถูกกว่านำเข้า 2 เท่า คาดจะช่วยลดการทำเข้าชุดตรวจจากต่างประเทศได้ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี เตรียมผลิตขายครั้งแรกในไทยพร้อมส่งมอบ ‘ชุดสกัดอาร์เอ็นเอ’ ให้บุคลากรทางการแพทย์ 3 หน่วยงาน กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกรมราชทัณฑ์ รวม 82,000 ชุด
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ดร.ลดาวัลย์ กระแสร์ชล รอง ผอ.สวทช. ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง ผอ.ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. และทีมวิจัย รศ.ดร.พรสวรรค์ เหลืองวุฒิวงษ์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล และ ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมแถลงข่าวในพิธีมอบ “ชุดสกัดอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” โดยมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานมอบชุดสกัดอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้แก่ นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (50,000 ชุด)นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (12,000 ชุด)และนายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์(20,000 ชุด) รวมจำนวน 82,000 ชุด มูลค่า 8.2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวง อว. เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ด้วยการระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานวิจัย และสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด ที่เป็นแหล่งรวมบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถและความเชี่ยวชาญมาคิดค้น วิจัย และพัฒนานวัตกรรม กระทั่งนำไปสนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ด่านหน้าได้เป็นอย่างดี โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นด่านหน้า ขณะที่กระทรวง อว. เป็นกองหนุน ได้ให้การสนับสนุนด้านวิชาการ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งสถานที่ฉีดวัคซีนตามมหาวิทยาลัยเกือบครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อรับมือกับวิกฤตครั้งใหญ่ครั้งนี้
การป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 กระทรวง อว. มีการดำเนินการแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ตลอดจนการสร้างผลประโยชน์ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวให้แก่ประเทศ โดยในระยะสั้นมีโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศหรือเรียกสั้นๆ ว่า U2T ที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานจากวิกฤตโควิด-19 เป็นการจ้างงานของรัฐบาลที่ทำได้อย่างรวดเร็วที่สุด ทำให้คน 60,000 คน ที่เป็นลูกหลานของชาวบ้านมีงานทำกระจายไป 3 พันตำบลทั่วประเทศ และเป็นครั้งแรกที่ให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 76 แห่ง ลงสู่ตำบลเพื่อทำงานร่วมกับชุมชน ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชนหลายร้อยล้านบาท และกำลังเข้าสู่โครงการ U2T ในระยะที่ 2 ซึ่งจะเป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นและต่อยอดจากระยะที่ 1 ประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ 1.การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 2.การดูแลเศรษฐกิจชุมชนแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามบริบทของชุมชน และ 3.การจ้างงานบุคลากรที่มีความรู้ มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เป็นประเด็นสำคัญ จะมีการปฏิบัติงาน 7,435 ตำบลทั่วประเทศ จ้างงาน 150,000 คน
นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังโทรศัพท์ไปให้กำลังใจและคำปรึกษาแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาแบบ Home Isolation ในยามที่โรงพยาบาลสนามไม่เพียงพอ ซึ่งตระหนักว่าผู้ป่วย Home Isolation ต้องการกำลังใจมาก อีกทั้งกระทรวง อว. ยังได้ส่งยาสมุนไพร และอุปกรณ์ของใช้ที่จำเป็น ที่เรียกว่า “อว. พารอด” โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวนมากที่ช่วยบริจาคสิ่งของ เกิดเป็นพลังขับเคลื่อนทางสังคม
สถานการณ์ในวันนี้เริ่มคลี่คลาย มีการเปิดประเทศเป็นวันที่ 2 แล้ว เพื่อที่จะให้ทุกส่วนขับเคลื่อนต่อไปได้ กระทรวง อว. ยังพัฒนายา วัคซีน และเทคโนโลยีต่างๆ ต่อไป เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรค ขณะเดียวกันก็พัฒนาประเทศตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) ที่เป็นวาระของชาติ ซึ่งครอบคลุมเรื่องการพัฒนายา วัคซีน และเครื่องมือแพทย์ด้วย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการตอบโจทย์เศรษฐกิจบีซีจีทั้งสิ้น และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไปจะเป็นส่วนสำคัญของการประชุม APEC
“สำหรับในวันนี้ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง สำหรับความสำเร็จล่าสุดของผลงานวิจัยชุดสกัดอาร์เอ็นเอ ของศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. ที่ผมเป็นประธาน กวทช. อยู่ ภูมิใจกับ สวทช. ที่พัฒนาชุดสกัดอาร์เอ็นที่ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพเทียบเท่าชุดสกัดอาร์เอ็นเอที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ราคาถูกกว่ามาก และมีการส่งมอบให้แก่ 3 หน่วยงาน คือ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมราชทัณฑ์ ที่จะได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ผมขอขอบคุณทีมวิจัยและผู้อยู่เบื้องหลังทุกท่าน ถ้าไม่มีทีมวิจัย และไม่มีผู้สนับสนุน เราก็มาไม่ถึงวันนี้ เราทำงานด้วยความลำบาก เปลี่ยนแปลง แก้ไข วิจัยไป พัฒนาไป ยกระดับไป จนในที่สุดก็สำเร็จ ซึ่งไม่ใช่แค่วิจัยและพัฒนานวัตกรรมสำเร็จเท่านั้น แต่ยังสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายได้ด้วย”
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีเป้าหมายที่จะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดและขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมทางด้านสุขภาพและการแพทย์ ตามเป้าหมายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบาย BCG Economy Model ในสาขายุทธศาสตร์ สุขภาพและการแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมา สวทช. ได้เร่งพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรม สำหรับรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 มีการส่งมอบผลงานมากกว่า 20 ผลงาน ครอบคลุมทั้งด้านการป้องกัน การลดการแพร่กระจายและฆ่าเชื้อโรค รวมทั้งการตรวจคัดกรองและการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมีหลายผลงานที่พร้อมทางด้านเทคโนโลยีการผลิตจนสามารถนำไปต่อยอดและเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศ
“สวทช. รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ส่งมอบชุดสกัด RNA (Viral RNA Extraction Kit) ของศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัด สวทช. ที่ได้รับเงินกู้ฉุกเฉินภายใต้ “พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563” เพื่อดำเนินการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยชุดสกัด RNA ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วเหมาะสมกับการใช้งานจริง รวมถึงการขยายผลในการผลิตเพื่อส่งมอบให้หน่วยงานที่ใช้ประโยชน์โดยตรง อาทิ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมราชทัณฑ์ รวมจำนวน 82,000 ชุด (มูลค่าแปดล้านบาทเศษ) ได้นำไปใช้สกัดอาร์เอ็นเอ ก่อนส่งตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยใช้ตัวอย่างจากสารคัดหลั่ง หรือ swab ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคนิค Real-time RT-PCR ในราคาที่ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศอย่างน้อย 2 เท่า (ราคานำเข้าอยู่ที่ 120-200 บาท)
ซึ่งการวิจัยและพัฒนานี้ถือเป็นจุดแข็งของประเทศที่จะช่วยสนับสนุนความมั่นคงด้านสุขภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าชุดสกัด ช่วยให้ประเทศมีความพร้อมในการรับมือต่อการระบาดของโรคอุบัติใหม่ และยังเป็นส่วนสำคัญของการวิจัยพัฒนาเพื่อ ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลใช้เป็นนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ”
ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง ผู้อำนวยการศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. กล่าวเสริมว่า ตลอดการระบาดของ โควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกเมื่อปีที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คิดค้นและพัฒนา “วิธีสกัดอาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) จากตัวอย่างแบบง่าย” ขึ้น โดยใช้อนุภาคแม่เหล็ก (Magnetic bead) จับกับสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอของไวรัส ซึ่งอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสที่สกัดได้มีความบริสุทธิ์สูง สามารถนำไปตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธี RT-PCR
ทั้งนี้วิธีในการสกัดสารพันธุกรรม ที่คิดค้นมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การทำให้เซลล์แตกตัวแล้วปล่อยสารพันธุกรรมออกมา 2.การเข้าจับสารพันธุกรรมและทำความสะอาดสารพันธุกรรม และ 3.การละลายสารพันธุกรรมบริสุทธิ์นั้นออกมาจากตัวจับ และทำความสะอาดสารพันธุกรรมที่อยู่ในตัวอย่าง ซึ่งสามารถทำการสกัดได้เร็ว ราคาถูก ที่สำคัญยังปรับวิธีให้ใช้ได้กับเครื่องสกัดอัตโนมัติที่มีอยู่ในท้องตลาดได้ค่อนข้างง่าย ทั้งนี้วิธีสกัดอาร์เอ็นเอดังกล่าว ยังสามารถนำไปใช้ในการสกัดสารพันธุกรรม ในสิ่งมีชีวิตอื่นๆได้ ไม่จำกัดเพียงไวรัสก่อโรคโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงไวรัสก่อโรคในพืช สัตว์และมนุษย์
“วิธีการสกัดที่พัฒนาขึ้น ถือเป็นวิธีที่ง่ายสามารถใช้งานกับสารเคมีและอุปกรณ์ที่มีอยู่ในห้องปฏิบัติการด้านพันธุกรรม ซึ่งทีมนักวิจัยฯ ได้มีการนำไปทดสอบใช้งานจริงกับตัวอย่างตรวจของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว พบว่าให้ผลไม่แตกต่างจากการใช้ชุดสกัดที่นำเข้าจากต่างประเทศ
ปัจจุบันทีมวิจัยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท After Lab และ Bioentist เป็นผู้รับอนุญาตให้สิทธิใช้ประโยชน์เพื่อเตรียมผลิตและจำหน่ายทางการค้าครั้งแรกในไทย
ทั้งนี้ภายใต้โครงการดังกล่าว ทีมวิจัย สวทช. ได้ร่วมกับบริษัท After Lab ในการปรับวิธีให้สามารถใช้ได้กับเครื่องสกัดแบบอัตโนมัติ และมีทีมของ รศ. ดร.พรสวรรค์ เหลืองวุฒิวงษ์ จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล และทีมของ ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมในโครงการเพื่อทำการทดสอบการใช้งานในตัวอย่างจริง ซึ่งได้รับการสนับสนุนการใช้เครื่องสกัดสารพันธุกรรมแบบอัตโนมัติ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากบริษัท After Lab”
ผู้อำนวยการศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. กล่าวด้วยว่า “การพัฒนาชุดสกัดอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของไทยได้เองนี้จะช่วยลดการทำเข้าชุดตรวจได้หลายพันล้านบาทต่อปีหรือประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งจะช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของประเทศ ลดการขาดแคลนชุดสกัดRNA ในยามเกิดโรคระบาดและสามารถทำได้ในราคาที่ถูกกว่า”
ด้านดร.วิรัลดา ภูตะคาม หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า เริ่มพัฒนา ชุดสกัดอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงเริ่มเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงต้นปี 2563 ซึ่งทำให้สารเคมีที่ใช้สกัดอาร์เอ็นเอเป็นที่ต้องการสูง ทำให้การตรวจตัวอย่างจากชุดตรวจนำเข้ามีค่าใช้จ่ายสูงถึง 6,000-7,000 บาทในช่วงเกิดการระบาดใหม่ ๆ บริษัทผู้ส่งออกในต่างประเทศต้องการเก็บไว้ใช้ในประเทศของตนก่อน อีกทั้งยังมีเรื่องภาษีนำเข้า จึงคิดพัฒนาชุดตรวจเป็นของไทยเอง โดยมีความไวและคุณภาพไม่ได้ด้อยกว่ากัน มีความถูกต้องแม่นยำเท่ากับชุดที่นำเข้ามา
ทั้งนี้ชุดสกัดอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นการแยกสารพันธุกรรมออกจากโปรตีนที่หุ้มตัวไวรัสออกมาเพื่อนำไปใช้ตรวจกับ RT-PCR ก่อนเพื่อยืนยันว่าเป็นเชื้อโควิด-19 หรือมีการกลายพันธุ์หรือไม่ โดยใช้เวลาสกัดเพียง 10 นาทีและ RT-PCR อีก 1.30 ชั่วโมง 1 กล่องมีชุดตรวจมี 6 เพลต ๆ ละ 16 ชุด รวมทั้งหมด 96 ชุด
นอกจากใช้ตรวจไวรัสโควิด-19 แล้ว อนาคตอาจต่อยอดหรือไปประยุกต์ใช้ตรวจเชื้อRNAไวรัส หรือ DNA ไวรัสก็ได้ เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ ไวรัสHIV ไวรัสไข้หวัดแอฟริกันในหมู เป็นต้น