สกสว. เดินหน้าพัฒนา (ร่าง) กฎหมายรอง พรบ. ส่งเสริมใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยฯ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
สกสว. เดินหน้าพัฒนา (ร่าง) กฎหมายรอง พรบ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยฯ เน้นย้ำเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ประธานกรรมการอำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ สกสว. ครั้งที่ 11/2564 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ เพื่อหารือความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านต่างๆ ของ สกสว. โดยมีประเด็นความก้าวหน้าการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. … เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีการพิจารณากันวันนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติเห็นชอบร่าง พรบ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม
โอกาสนี้ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้รายงานความก้าวหน้าต่อประเด็นดังกล่าวในที่ประชุมว่า ขณะนี้กฎหมายดังกล่าว อยู่ในกระบวนการรอโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยและประกาศ พระราชกิจจานุเบกษา ก่อนมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน ช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาที่คณะทำงาน สกสว. และ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดทำอนุบัญญัติ หรือกฎหมายลำดับรองให้เรียบร้อย โดยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) กฎหมายรอง จากหน่วยงานเพิ่มเติม หลังจากรับฟังข้อเสนอแนะจาก ทางศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน 46 หน่วยงาน จำนวน 2 ครั้ง
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. เอนก ได้ให้ข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ 1.ควรมีการเตรียมความพร้อมของหน่วยบริหารจัดการทุน (พีเอ็มยู) ให้สามารถปฏิบัติได้ ก่อนพระราชบัญญัติฯ และกฎหมายลำดับรองจะผลบังคับใช้
2.ควรมีการขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) เพื่อสื่อสารให้ข้าใจง่ายและสร้างการรับรู้
3.ควรสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถให้แก่หน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ที่ไม่ใช่หน่วยของมหาวิทยาลัยเท่านั้น
4.ควรมีหน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญากลางของประเทศ เพื่อช่วยบริหารทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญาอื่น
5.ควรพัฒนากำลังคนด้านการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา
นอกจากนี้ ยังเห็นว่ามีประเด็นที่ควรพิจารณาเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่ไม่ได้ระบุใน พรบ. ฉบับนี้คือ เรื่องการยกระดับความสามารถด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการที่มีบทบาทสำคัญในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาดรองรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสร้างกระบวนการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์
โดยหลังจากการรายงานความก้าวหน้าดังกล่าว คณะกรรมการอำนวยการ สกสว. เห็นควรว่า พรบ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงกฎหมายรอง ถือได้ว่ามีความสำคัญกับการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ของประเทศ ควรมุ่งเน้นการพิจารณาเป็นพิเศษ เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้เกิดประสิทธิผลสูงสุดกับการพัฒนาประเทศต่อไป