คณะอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกัน-ลดอุบัติเหตุทางถนน
วุฒิสภา-สสส.ลงพื้นที่ติดตามงานความปลอดภัยบนท้องถนน จ.สมุทรสงคราม เร่งหนุนเสริมการจัดการในพื้นที่-เฝ้าระวังอุบัติเหตุบนท้องถนนเชิงรุก พัฒนาศักยภาพให้กู้ชีพ-กู้ภัย อาสาจราจรเสริมทัพ
เมื่อเร็วๆนี้ นายแพทย์ทวีวงษ์ จุลกมนตรี สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (วุฒิสภา) พร้อมด้วยนางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คณะอนุกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน โดยมี นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมคณะทำงานให้การต้อนรับ
นายแพทย์ทวีวงษ์ จุลกมนตรี สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (วุฒิสภา) กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องอุบัติเหตุ และได้บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีเป้าหมายชัดเจนในการลดอุบัติเหตุจราจร ที่ผ่านมาพบว่ามีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ปีละกว่า 20,000 ราย นับเป็นสถิติที่สูงอย่างต่อเนื่องของประเทศ และเรายังติดอันดับ 9 ของโลก กระทั่งต่อมาเกิดปัญหาโควิด-19 เข้ามา ทำให้การเดินทางลดลง การดื่มแล้วขับก็ลดลง ส่งผลที่ช่วยสนับสนุนให้อุบัติเหตุทางถนนลดน้อยลงตามไปด้วย แต่ขณะนี้การเดินทางกำลังเริ่มจะกลับมาเป็นปกติแล้ว จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจราจรกลับมาสูงขึ้น และจากการลงพื้นที่ดูการดำเนินงานของ จ.สมุทรสงคราม ได้เห็นการทำงานของทุกภาคส่วนที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงเห็นการทำงานแบบเชิงรุกโดยเฉพาะในด้านการแพทย์ฉุกเฉิน มีทีมกู้ชีพกูภัยที่เข้มแข็งเป็นเครือข่ายในการทำงาน ซึ่งยังไม่พบเห็นในการลงพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่ผ่านมา
“เรามองเห็นการทำงานเรื่องความปลอดภัย การตั้งด่านของอาสาสมัคร ของ จ.สมุทรสงคราม แต่เราจะเห็นปัญหาว่าการดำเนินงานในส่วนนี้ ไม่สามารถรองบประมาณจากส่วนกลางได้ เพราะเป็นเรื่องของชีวิต หากทางจังหวัดมีงบประมาณไปช่วยเหลือ จะทำให้เขาสามารถขยายการดำเนินงานออกไปได้ และมีความเข้มแข็งขึ้น อยากเน้นย้ำให้ทางจังหวัดดำเนินการเรื่อง ด่านชุมชน ดูแลจัดการเรื่องงบประมาณในการทำงาน เพราะเชื่อว่าหากชุมชนเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเจอภัยรูปแบบไหนใด เชื่อว่าจะมาสามารถรับมือได้อย่างเข้มแข็ง พร้อมขอความร่วมมือกับทาง สสส. สนับสนุนประสานการทำงานร่วมกันด้วย” นายแพทย์ทวีวงษ์ กล่าว
นายแพทย์ทวีวงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตั้ง “ศูนย์อุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ” เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ เป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ตั้งเป้าเชิญนายกรัฐมนตรี เป็นประธานศูนย์ รวมทั้งการตั้งศูนย์ 191 ที่ให้ประชาชนสามารถใช้บริการขอความช่วยเหลือด้านต่างๆ ผ่านการโทร หรือแอปพลิเคชั่น และช่องทางไลน์ คาดว่าจะดำเนินการใช้งานได้ทั่วประเทศ 77 จังหวัด ในปี 2566
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสงครามเป็นจังหวัดขนาดเล็ก มีเพียง 3 อำเภอ แต่เป็นจังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่สูงเมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่ โดยในปี 2564 จังหวัดสมุทรสงครามมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนแล้ว 54 ราย คิดเป็นอัตรา 28.11 ต่อแสนประชากร ซึ่งเป็นสถิติเดียวกับปี 2563 โดยรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดร้อยละ 86.60 มีสาเหตุจากการขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด กลุ่มผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือกลุ่มวัยรุ่น รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุ สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการเลี่ยงใช้งานรถสาธารณะ หันมาใช้รถจักรยานยนต์ส่วนตัวแทน ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะไม่มีความชำนาญหรือทักษะในการขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือรถรุ่นใหม่ ๆ จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลในเชิงลึก และแก้ให้ตรงจุดต่อไป
“แม้จังหวัดสมุทรสงครามจะมีจุดเสี่ยงและจำนวนผู้เสียชีวิตที่คงที่ แต่มีจุดแข็งคือ มีกลุ่มกู้ชีพ-กู้ภัยที่เข้มแข็ง เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะเข้าถึงพื้นที่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บพร้อมประสานโรงพยาบาลและเครือข่ายอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในด้านการสืบสวนอุบัติเหตุและการสื่อสารเพื่อให้ทีมกู้ชีพสามารถสะท้อนข้อมูลอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงส่งต่อข้อมูลเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจทางนโยบายในระดับพื้นที่หรือจังหวัด ในการออกมาตรการป้องกันเฝ้าระวังในพื้นที่ได้ หากการดำเนินงานได้ประสิทธิผลที่ดี จะสามารถช่วยทางภาครัฐในการทำงานได้” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
ด้านนายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามกล่าวว่า จังหวัดมีแนวทางในการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางท้องถนน ใน 5 ประเด็นหลัก ดังนี้ 1.พุ่งเป้าไปที่ สถานศึกษา เด็ก เยาวชน ให้ตระหนักถึงเรื่องความปลอด ผ่านโครงการ เช่น โครงการสนามจราจรเยาวชน นักเรียนรุ่นใหม่ต้องมีใบขับขี่ 2.ถนนปลอดภัย กำหนดให้ถนนเอกชัยเป็นเขตควบคุมวินัยจราจรและเขตควบคุมความเร็ว 3.พาหนะ จัดทำเครื่องมือตรวจสอบรถดัดแปลงรถผิดกฎหมาย โดยเน้นไปที่รถโดยสารสาธารณะ และ รถรับ-ส่งนักเรียน 4.การบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนผ่านกลไก อปท. ศปถ.จังหวัดและ ศปถ.อำเภอ และ 5.สร้างการรับรู้ทุกภาคส่วน เช่น อำเภอ สถานศึกษา สถานประกอบการขนาดใหญ่ ส่วนราชการ ผ่านการ อบรม ประชุม และสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ตระหนักรู้และร่วมกันเฝ้าระวังอุบัติเหตุในพื้นที่ของตนเองได้