ยิ่งใหญ่ “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564” ใต้แนวคิด “พลังงานวิจัย สู่ยุคใหม่แห่งอนาคต” แบบ New Normal
ศาสตราจารยพิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีกระทรวงอว. เป็นประธานเปิดงานมหกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 ภายใต้แนวคิด “พลังงานวิจัย สู่ยุคใหม่แห่งอนาคต” โดยมีผู้บริหารวช.และหน่วยงานเครือข่ายวิจัยเข้าร่วม ระหว่างวันที่ 22-26 พ.ย. นี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซนเตอร์ เซนทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “โควิด-19 พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยนวัตกรรม” หนุนพันธกิจรัฐดันวิจัยนวัตกรรมยกไทย “ประเทศพัฒนาแล้ว” ภายในปี2580 เชื่อหลังวิกฤติโควิด ไทยไปต่อได้
“งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564″ หรือ Thailand Research Expo 2021 เป็นงานเวทีระดับชาติที่นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงการบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม/ชุมชน และพาณิชย์/อุตสาหกรรม จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ คัดผลงานวิจัยและนวัตกรรมกว่า 560 ผลงาน มาให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ได้มาเรียนรู้อย่างใกล้ชิดขึ้น ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 ระหว่างวันที่ 22 – 26 พ.ย.นี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “พลังงานวิจัย สู่ยุคใหม่แห่งอนาคต” เพื่อแสดงถึงพลังของงานวิจัยที่เป็นกลไกเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลและการวางแผนปฏิบัติทำให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยี ในปีนี้ วช. ได้มีการบริหารจัดการตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือ Covid Free Setting ได้รับการร่วมมืออย่างดียิ่งจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยและนวัตกรรมทั่วประเทศในการร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ด้วยความตั้งใจที่ วช. จะส่งต่อผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ในรูปแบบผสมผสานที่ทำให้ผู้เข้าร่วมงานทั้งในรูปแบบ Online และ Onsite สามารถเข้าถึงงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างปลอดภัย
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ” โควิด-19 พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยนวัตกรรม” โดยระบุว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยสามารถทำได้ดีในยามวิกฤติ ซึ่งหากไม่มีวิกฤติคงจะทำอะไรไปเรื่อย ๆ ดังคำกล่าวที่ “ความจำเป็น เป็นมารดาของการประดิษฐ์คิดค้น” หรือ “Necessity is the mother of invention”
ทั้งนี้หลังการเริ่มต้นระบาดในปี 2562 ไทยมีการพัฒนาวัคซีนขึ้น จากที่ไม่คิดว่าจะทำได้และสามารถผลิตได้หลายอย่าง ทั้งวัคซีนชนิด mRNA ของ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อยู่ระหว่างการทดลองในมนุษย์ในขั้นสุดท้าย คาดว่าจะได้ใช้ราวกลางปีหน้า และวัคซีนใบยา ที่อยู่ระหว่างการทดลองในมนุษย์ในขั้นสุดท้ายเช่นกัน mRNA นอกจากนี้มี ห้องความดันลบ และชุด PPE ที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้เนื่องจากผลิตได้ในราคาต่ำมาก ตั้งแต่ 5-10 เท่าของราคาที่ผลิตทั่วไป
วิกฤติโควิด-19 จึงช่วยให้เกิดมุมมองการทำธุรกิจแบบใหม่ แบบประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยขณะนี้ได้หารือกับธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาของคนไทย ซึ่งภาครัฐมีงบประมาณลงทุนด้านวิจัยประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ธุรกิจลงทุน 100,000-200,000 ล้านบาทต่อปี ธุรกิจใหญ่ของไทยพร้อมที่จะนำงานวิจัยไปสร้างบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้
ขณะเดียวกันวิกฤติที่เกิดขึ้นยังทำให้เห็นว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตาธรรม ไม่มีใครอด มีการเชื่อฟังคำสั่งของภาครัฐ ทำให้เห็นว่าเป็นสังคมที่มีความยืดหยุ่นตั้งแต่ระดับสูงถึงต่ำมีการปรับตัว จึงทำให้รอด นอกจากนี้โควิด-19 ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำไปได้อย่างมาก
ทั้งนี้เชื่อว่า หลังวิกฤติโควิด ไทยจะไปต่อได้ โดยจากการเดินทางไปหลายภูมิภาค พบมีการเดินทาง การจับจ่ายซื้อสินค้าตามเอาท์เล็ตต่างๆ และหลายประเทศพร้อมจะเปิดประเทศ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวต่อว่า การทำงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและพัฒนานวัตกรรมไม่ใช่ทำไปเรื่อยๆ แต่ควรทำอย่างมีเป้าหมายจริงจัง มีพันธกิจที่ชัดเจน ซึ่งวันนี้ตนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีมาปาฐกถาในด้านวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ที่นายกรัฐมนตรีมีเป้าหมายชัดเจนว่า มุ่งพาประเทศสู่ประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ภายในปี 2580 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการผูกตัวเองว่า จะมีอนาคตที่ดีกว่าปัจจุบัน ไม่ใช่ปล่อยให้มีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ และปล่อยให้ประเทศเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาไปเรื่อยๆ
สำหรับเป้าหมาย 2580 หรือคือ อีก 16 ปีข้างหน้า เป็นการทำเพื่อคนรุ่นต่อไป รุ่นเยาวชน วัยกลางคนและคนที่กำลังจะมาเกิดต่อไป ทั้งนี้รัฐมนตรีกระทรวงอว.ได้ให้คำจำกัดความ”ประเทศพัฒนาแล้ว” คือ 1.เป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยวัดจากค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาติ(GNP ) รายได้ต่อหัวสูง ไทยขณะนี้จัดเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน ซึ่งการจะทำให้ไทยมีรายได้สูงภายในปี 2580 เศรษฐกิจจะอาศัยแต่เพียงแรงงานถูกไม่ได้ จะอาศัยวัตถุดิบ แร่ธาตุที่มีอยู่มากมายแต่ขายได้ในราคาไม่แพงไม่ได้ หรืออาศัยพืชเศรษฐกิจหลักแบบเดิมๆไม่ได้ โดยปัจจุบันรัฐบาลต้องอุดหนุนพืชเศรษฐกิจ 5 อย่างเป็นงบประมาณนับแสนล้านต่อปี ซึ่งจะปล่อยให้อุดหนุนต่อไปเป็นเวลานานไม่ได้
การจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้คือ จะต้องดำเนินการ 2 ขา คือ การวิจัยและนวัตกรรม ต้องมีการนำงานวิจัยมาเป็นฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและการทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้สูงกว่าเดิม เช่น งานด้านบริการ ด้านการท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เราต้องทำให้ผู้มาเยือนเคารพและผู้เป็นเจ้าบ้านภูมิใจ
“ไทยโชคดี บรรพบุรุษได้ลงทุนลงแรงสร้างไว้ให้มากและลูกหลานกำลังได้รับดอกผล โดยต่างประเทศจัดอันดับไทยว่า มีมรดกทางวัฒนธรรมเป็นลำดับ 7 ของโลก ในเอเชียเราเป็นรองจากอินเดีย แต่ไทยอยู่เหนือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ การทำงานทั้ง 2 อย่างต้องการทฤษฎี ต้องมีการวิจัยและถอดบทเรียนจากสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง”
2.ประเทศพัฒนาแล้ว ยังหมายถึง ประเทศที่มีความจริงจังกับปัจจุบัน ว่าทำงานกันได้สำเร็จและคาดหวังว่าจะมีอนาคตที่ดีกว่าปัจจุบัน พร้อมกับมีความภูมิใจในอดีต และสามารถเอาอดีตมาต่อยอดประสานกับกระแสโลกาภิวัตน์ กระแสโลก กระแสสากล เพื่อนำสู่การมีอนาคตที่ดี ทั้งในด้านกลายเป็นอาชีพ ส่งเสริมเศรษฐกิจ
โดยยกตัวอย่าง ” ลิซ่า -ลลิษา มโนบาล” ที่ได้นำศิลปะ ผลงานมรดกทางวัฒนธรรมของไทยไปสู่สายตาของชาวโลก มีการสวมชฎา ไปเต้นมิวสิควีดีโอที่ปราสาทพนมรุ้ง ที่เป็นของดั้งเดิมสร้างความสนใจในต่างประเทศ เกิดการสร้างรายได้ จนกลายเป็นไอดอลระดับโลก กลายเป็นโลกาภิวัติน์อีกแบบ ที่เป็นพหุวัฒนธรรม ทำให้ต่างประเทศสนใจมวยไทย สปาไทย อาหารไทย ทำให้กลายเป็นอาหาร สปาระดับโลก
3.ประเทศพัฒนาแล้วต้องมีการพัฒนาทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ งานวิจัยของเราเดินมาถูกทาง เราต้องทำให้วิทยาศาสตร์ วิทยาศาตร์ประยุกต์ที่ดี สังคมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ไปด้วยกันให้ได้ สังคมศาสตร์ทำให้สังคมเป็นปึกแผ่น ขัดแย้งได้ แต่อย่าทำให้เราอ่อนแอลง ขัดแย้งเพื่อทำให้ได้สิ่งที่ดีขึ้น และต้องมีศิลปกรรมด้วย ศิลปะ ดนตรีเป็นสิ่งที่เราต้องทำต่อไป
อนึ่งการวิจัยในครั้งนี้ วช. ได้นำประเด็นตามนโยบาย และยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงนโยบายของรัฐและประเด็นที่เป็นปัญหา ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกที่ได้เผชิญวิกฤตการการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 มากำหนดเป็นธีมในการนำเสนอผลงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 หัวข้อ ดังนี้ 1) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 2) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคมและสิ่งแวดล้อม 3) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 4) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ 5) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG Model
6) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 7) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่ พร้อมทั้งนำเสนอนิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งการวิจัยไทยและนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10” และนิทรรศการเทิดพระเกียรติฉายพระอัจฉริยะภาพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
รวมถึงนิทรรศการการนำเสนอข้อมูลและผลงานจากเครือข่ายในวิจัยทั่วประเทศในรูปแบบไฮบริด โดยมีการจัดประชุมสัมมนาด้วยระบบออนไลน์กว่า 100 หัวข้อ และสามารถชมนิทรรศการได้ในรูปแบบ Visual Exhibition ที่จำลองบรรยากาศงานผ่านแพลตมฟอร์มออนไลน์ รวมถึงการ Live ในแต่ละวัน นอกจากนี้ภายในงานยังจัดให้มีการมอบสุดยอดผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ Platinum Award ซึ่งจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพ ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน